7.4.09

Supermarket Tour(1) : หยุดคิดสักนิด! ก่อนหยิบของบนชั้นสินค้า


เรามีคำถามอยากจะถามคุณสัก 2-3 ข้อ เกี่ยวกับการซื้อสินค้าจากซุปเปอร์มาร์เก็ต อะไรเอ่ยที่ดึงดูดให้คุณตัดสินใจไปเดินเลือกซื้ออาหาร สิ่งของเครื่องใช้จากซุปเปอร์มาร์เก็ต ? ชั้นวางอาหาร - ผักผลไม้ที่สะอาด สด ใหม่ ? หรือชั้นวางที่เต็มไปด้วยเนื้อแช่แข็งเตรียมพร้อม รอให้คุณเลือกซื้อ ?

งานเขียนชิ้นนี้ เป็นการแปลและเรียบเรียงเนื้อหามาจากงานวิจัยเกี่ยวกับซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่ชื่อว่า “Supermarket Tour” เป็นความพยายามของคณะวิจัยชาวแคนาดาที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงสายโยงใย ระหว่างกระบวนการผลิตอาหารต่างๆ และพัฒนาการของห่วงโซ่การผลิตอาหารในการบริโภคของคนแคนาดา ที่คณะวิจัยเดินสำรวจซุปเปอร์มาร์เก็ตไปทั่ว ถือว่าเป็นการทัวร์และตั้งคำถามไปพร้อมๆ กัน จากประเด็นด้านแรงงานสู่การติดฉลากสินค้า จากการค้าที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพันธุกรรมพืชและสัตว์ จากยาปราบศัตรูพืชสู่การทำกำไร ล้วนแต่เป็นเรื่องสำคัญทั้งนั้น

Supermarket Tour จะ พาคุณไปค้นหาคำตอบเหล่านั้น พร้อมทั้งเพิ่มเติมข้อมูลให้เราทุกคน (ไม่ใช่แค่เพียงชาวแคนาดาเท่านั้น แต่เพื่อผู้บริโภคทั้งโลก) เพื่อการรู้เท่าทันกลยุทธ์ต่างๆ ของซุปเปอร์มาเก็ต (ของบริษัท/นายทุน) ตลอดจนเพื่อป้องกันตัวคุณเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของตลาดไฮเทคแบบนี้

สุดท้ายก็เพื่อลดความเสี่ยงในการบริโภคอาหารของคุณ ที่เชื่อมโยงไปถึงปัญหาการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น และในโลก ที่อาหาร ผักผลไม้ และผลิตภัณฑ์นานาชนิดบนชั้นวางที่ส่องประกายความสดใหม่นั่นไม่ได้สด สะอาด ถูกหลักอนามัยและดี อย่างที่คุณคิด ด้วยเบื้องลึกเบื้องหลังที่คุณต้องรู้ แล้วคุณจะมีทางเลือกอย่างไรบ้าง...

หากคุณยังต้องรับประทานอาหารอยู่ทุกวี่วัน ข้อมูลจาก Supermarket Tour นี้ - ก็เพื่อคุณๆ โดยเฉพาะเลยทีเดียว!

ปลดแอกผู้บริโภค ต้านบริษัทผูกขาดตลาด
“ข้อ ดีของระบบอาหารแบบใหม่นั้นเป็นเพียงภาพลวงตา เพราะมันคือ การขูดรีดโดยผู้ผลิต ด้วยสินค้าราคาถูกที่แลกมาด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อม การหลอกลวงผู้บริโภค คุณภาพอาหารต่ำ และสุดท้ายนั่นคือการบั่นทอนความมั่นคงด้านอาหารของชาติ”

ระบบ ทางด้านอาหารของแคนาดาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ทว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว กลับปราศจากซึ่งการยอมรับ และการตระหนักรู้ของประชาชน ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สภาพสิ่งแวดล้อมและค่านิยมของชาวแคนาดามาโดยตลอด

ในสมัยอดีตการจับจ่ายซื้อของ มักเป็นการไปซื้อตามร้านเฉพาะต่างๆ ในท้องถิ่น เช่น ไปร้านพ่อค้าขายเนื้อ ร้านทำขนมปังอบหอมกรุ่นทุกๆ วัน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นการซื้อของแยกเฉพาะตามร้านตามประเภทอาหาร พ่อค้าแม่ค้าหรือเจ้าของร้านมักจะรู้จักลูกค้าของพวกเขา และเขาก็ต้องให้แน่ใจว่าลูกค้าได้รับประทานอาหารที่ดีมีคุณภาพ แต่ปัจจุบันระบบการค้าขายแบบนี้ถูกตัดทอนให้เป็นแบบตัวใครตัวมันมากขึ้น ผู้ผลิตไม่รู้จักผู้บริโภค และดูเหมือนว่ากำไรจะสำคัญกว่าการห่วงใยสุขภาพผู้บริโภคอีกด้วย

ปัจจุบัน ซุปเปอร์มาร์เก็ต (หรือห้างค้าส่ง-ค้าปลีกยี่ห้อต่างประเทศ) ที่มีสินค้าและบริการรอให้เราเลือกซื้ออยู่มากมาย ผู้อ่านลองนึกดูซิว่า ใครเป็นเจ้าของ ? แล้วเจ้าของบริษัทเหล่านี้มีศูนย์กลางการดูแลจัดการ และการบริหารอยู่ที่ไหน ? และหากคุณคิดออก คุณจะพบว่าตลาดไฮเทคเหล่านี้แม้จะมีสาขาต่างๆ มากมาย แต่ก็พบว่ามีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่เป็นเจ้าของสาขาหลายร้อยสาขานั้น

สิ่ง ที่เกิดขึ้นจากการเสนอขายสินค้าแบบครบวงจรเช่นนี้ ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Oligopoly” คือ สภาวะที่มีผู้ขายน้อย ทำให้ผู้ขายสามารถกำหนดราคาและปัจจัยอื่นๆ ทางตลาดได้ ซุปเปอร์มาร์เก็ตแบบนี้จะควบคุมตั้งแต่การผลิตจากฟาร์ม ไร่สวน เมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ย ตลอดจนกระบวนการผลิต และการบรรจุหีบห่อ ท้ายที่สุดบริษัทเพียงไม่กี่แห่งก็จะมีอำนาจเหนืออุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ แล้วย่อมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่มีทางเลือกน้อยลง หรือไม่ได้รับผลประโยชน์จากการแข่งขันทางการตลาดอย่างแท้จริงอีกด้วย

กลยุทธ์ร้อยแปด ที่ทำให้คุณควักจ่าย
นอก จากนี้ ระยะทางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคก็ดูเหมือนจะยิ่งห่างไกลกันมากขึ้นด้วย จากการไปตลาดเพื่อจับจ่ายซื้อของ - ผักผลไม้ที่ปลูกขึ้นในท้องถิ่น กลายมาเป็น “ความไม่รู้” ผู้ซื้อไม่รู้เลยว่า ผักผลไม้ที่ต้องซื้อกินกันอยู่นี้ ปลูกขึ้นที่ไหน ใครเป็นผู้ปลูก มีอะไรบ้างที่ถูกใส่เข้าไปและเอาออกจากผัก ผลไม้ หรือเนื้อที่เรานำมาปรุงเป็นอาหารมื้อเย็นบนโต๊ะอาหารในค่ำวันนี้...ไม่มี ใครรู้เลย

ไม่เพียงแค่นั้น ด้วยหลักวิจัยทางการตลาดเพื่อการดึงดูดผู้ซื้อให้เพิ่มขึ้น ฉะนั้นตั้งแต่ก้าวแรกที่คุณเดินเข้าไปในซุปเปอร์มาร์เก็ต ทางร้านได้เตรียมการต้อนรับคุณไว้เป็นอย่างดีแล้ว ด้วยเสียงเพลงไพเราะ บันเทิงอารมณ์ เพื่อทำให้คุณเดินนานขึ้น เพลิดเพลินกับการจ่ายเงินมากขึ้น รายการสินค้าที่คุณตั้งใจจะซื้อและคิดไว้ในหัว สุดท้ายแล้วคุณก็จะมีสินค้าติดมือกลับบ้านเพิ่มขึ้นแบบไม่ตั้งใจ ด้วยกลยุทธ์โปรโมชั่น แบบลดแลก แจกแถม การสมัครเป็นสมาชิก ฯลฯ

นอก จากนี้ การวางสินค้าในระดับสายตาก็ช่วยกระตุ้นให้เลือกซื้อสินค้ายี่ห้อนั้นมากขึ้น (ถึงกับบริษัทผู้ผลิตต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือด - ลงทุนจ่าย เพื่อให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตวางสินค้าของเขาไว้ตรงชั้นนี้) ส่วนสินค้าสำหรับเด็กก็จะวางในระดับสายตาเด็ก ส่วนสินค้าที่ไม่ค่อยจำเป็นในชีวิตแต่ทำกำไรดี ก็จะวาง - แขวนปะปน ใกล้ๆ กับสินค้าที่คนจำเป็นต้องซื้อ นั่นจึงไม่แปลกใจเลยที่เงินออกจากกระเป๋าตังค์ของคุณไปได้อย่างไร แต่ขอบอกว่าเงินที่ไหลออกไปนั้น คุณก็เสียไปให้กับการลงทุนโฆษณาสินค้าในโทรทัศน์ วิทยุและตามสื่อต่างๆ ของยี่ห้อนั้นด้วย... (ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงเช่นกัน)

วิธีการแก้ไข-ป้องกันการเสียรู้
วิธี ที่ดีที่สุด คือ การจดบันทึกรายการสินค้าที่คุณจำเป็นต้องซื้อไปซุปเปอร์มาร์เก็ตด้วย และซื้อตามรายการนั้นจริงๆ , หรือไม่ก็เลือกไปซื้อตามร้านค้าในท้องถิ่นซึ่งมีต้นทุนน้อยกว่าทั้งในการ โฆษณาสินค้าหรือพยายามล่อใจคุณให้ซื้อ สินค้าและบริการที่คุณได้รับมักมีคุณภาพดีกว่า หรือเลือกซื้อสินค้าจากสหกรณ์การค้า “คุณก็จะหลุดจากวงจรที่ให้ตลาดไฮเทคควบคุมได้ในที่สุด”

แปลและเรียบเรียงจาก The Supermarket Tour (2002). Research and writing by Stella Lee, Caroline Liffman, and Cidy McCulligh. OPIRG Publication, McMaster University – Canada.

No comments:

Post a Comment