โลกร้อนอาจไม่ใช่ปัญหาเพราะโลกมีแนวโน้มว่าจะร้อนขึ้นอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังคืออุณหภูมิโลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ ควรจะเป็น ปรากฏการณ์ปรับสมดุลโลก อย่างภัยธรรมชาติได้นำหายนะมาสู่มนุษย์โดยความถี่เพิ่มขึ้นและรุนแรงขึ้น แม้ว่าพิธีสารเกียวโตจะมุ่งลดโลกร้อนแต่อาจไม่ใช่ทางออกอันแท้จริง
แม้ว่าสถานการณ์การเมืองไทยที่ร้อนระอุมานานเกือบตลอดปีที่ผ่านมาจะถูกชะลอด้วย การมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คนที่สามในระยะเวลาแค่ปีเดียว ทว่าปัญหาต่างๆ ที่รออยู่ข้างหน้า ให้คณะรัฐมนตรีเข้ามาแก้ เข้ามาบริหารงานนั้น ไม่ใช่เรื่องหมูๆ เอาเสียเล ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ปัญหาด้านแรงงาน สุขภาพ การศึกษา และปัญหาด้านที่ดิน-ทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม ปัญหาโลกร้อน ซึ่งไม่ใช่เป็นปัญหาของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในระดับภูมิภาคอีกด้วย เช่น ปัญหาเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ, ปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน, และปัญหาเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงาน ประเด็นเหล่านี้ก็ล้วนเชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่เป็นปัญหาอยู่ทั่วโลกเช่นกัน
ในยุคแห่งโลกาภิวัตน์นี้ นอกจากนโยบายด้านการพัฒนากระแสหลัก, แนวความคิดทางเศรษฐกิจกระแสหลัก หรือแม้แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเคลื่อนตัว แพร่กระจายไปทั่วโลกแล้ว, ปัญหาทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ การค้าทั้งหลาย รวมไปถึงปัญหาภาวะโลกร้อน ก็ดูเหมือนจะเกิดขึ้นเกือบทั่วทุกมุมโลกเช่นกัน สมกับเป็นยุคโลกาภิวัตน์จริงๆ เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกใบนี้ที่เป็นบ้านเพียงหลังเดียวของประชากรโลกกว่า 6.7 พันล้านคนนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้น คงไม่มีใครหนีไปไหนได้ คงมีแต่ใครจะเตรียมพร้อมรับมือได้ดีกว่ากันเท่านั้นเอง
เตรียมรับมือกับ “ยุคโลกาภิวัตน์แบบร้อนๆ”...
ผลพวงผลลัพธ์ เมื่อโลกเลือกที่จะล่มสลาย
“โลกร้อน” อาจไม่ใช่ปัญหาจริงๆ เพราะโลกมีแนวโน้มว่าจะร้อนขึ้นอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่า ที่ควรจะเป็นนั่นเอง เริ่มตั้งแต่ยุคการปฏิวัติทางการเกษตร และอุตสาหกรรมเป็นต้นมา มันได้กลายเป็นปัญหาใหญ่และได้ส่งผลกระทบต่อทุกสรรพสิ่งบนโลก รวมถึงมนุษยชาติแล้ว - ปรากฏการณ์ เหตุการณ์ และผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ น้ำท่วม ไฟไหม้ ภาวะการขาดแคลนน้ำ ภัยแล้ง โรคระบาดฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นอาการของ ‘โรค’
โรคที่ว่านี้ ถือเป็นปัญหาที่แท้จริง หมายถึงโรคทางความคิดของมนุษย์ ที่คิดว่าสามารถเอาชนะธรรมชาติและทุกๆ อย่างได้, โรคในระบบทุนนิยมที่ขูดรีด และกอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งจากดิน น้ำ ป่า น้ำมัน ก๊าซฯลฯ สัตว์และมนุษย์, โรคที่ฝังอยู่ในระบบทางการเมือง การรวมศูนย์การจัดการทรัพยากร การรวมศูนย์ทางการศึกษา โรคที่ถูกสถาปนาขึ้นเป็นดังอารยธรรมของมนุษย์มานานหลายพันปี
บัดนี้มันได้ส่งผลกระทบแล้ว และยิ่งซ้ำเติมปัญหาที่ดำรงอยู่มานานให้ยิ่งนักหนาขึ้นไปอีก เช่น ปัญหาการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิที่บุคคลจะมีสิทธิในที่ดินเพื่อการทำกิน แต่เมื่อคนจำนวนมาก ที่ถูกขับไล่ออกจากที่ดินของตัวเองจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (เขื่อน เหมืองแร่ ต่างๆ นานา) แล้ว ยังจะถูกภัยธรรมชาติขับไล่พวกเขาออกไปอีก
ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ภัยแล้ง น้ำท่วม ยิ่งส่งผลให้เกษตรกรจำนวนมากประสบกับปัญหา ผลผลิตลดน้อยลง เป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น, ปัญหาภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ส่งผลให้มีคนว่างงานเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ผู้หญิงในครอบครัว ที่อาจจะเป็นแม่ พี่สาว น้องสาว ก็ยิ่งต้องแบกภาระดูแลครอบครัวมากยิ่งขึ้นไปอีก
จากข้อมูลในหนังสือ Collapse: How Societies Choose to Fall or Succeed, 2005 (เมื่อสังคมโลกเลือกที่จะล่มสลาย) ของ จาเร็ด ไดอะมอนด์ (Jared Diamond) ซึ่งเป็นหนังสือขายดีทั่วโลก เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ผลจากการที่วิวัฒนาการของชุมชนหนึ่งๆ จากความรุ่งเรืองสู่หายนะและสุดท้าย คือความล่มสลายของอารยธรรมในแต่ละแห่ง โดยมีคำถามหลักคือ สังคมเหล่านั้นล่มสลายได้อย่างไร? แล้วตึกระฟ้าที่ล้อมเราอยู่ในมหานครใหญ่ทุกวันนี้ จะถึงวันที่ต้องถูกทิ้งร้างเฉกเช่นเดียวกับ ศาสนสถานเก่าแก่ เช่น นครวัด นครธม หรือไม่? – สรุปง่ายๆ ก็คือ การที่สังคมมนุษย์กำลังเอาเปรียบ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างบ้าคลั่ง และมากเกินกว่าอัตราที่ธรรมชาติจะฟื้นตัวได้ทันนั่นเอง ที่นำไปสู่จุดจบของสังคมอารยธรรมในอดีต
จึงเป็นคำถามที่น่าคิดด้วยว่า มนุษย์เราจะตอบปัญหาเหล่านี้อย่างไร แต่เรามีเวลาเหลืออยู่อีกสักเท่าไรที่กลับลำ เปลี่ยนพฤติกรรม และความคิดเพื่อกอบกู้โลก...
เพราะ ว่าโลกปัจจุบัน กำลังถูกรุมเร้าด้วยปัญหาต่างๆ มากมาย ความมั่นคงด้านความเป็นอยู่ และการดำเนินชีวิตของมนุษย์กำลังถูกสั่นคลอนด้วยภัยพิภัยทางธรรมชาติ เหตุการณ์ภัยสึนามิ พายุเฮอร์ริเคน ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ภาวะโลกร้อน น้ำท่วม-น้ำแล้ง ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เกิดขึ้นอย่างมีต้นตอสาเหตุ และแม้ว่านักวิทยา ศาสตร์บางฝ่ายจะเชื่อว่าเป็นเพียงการปรับตัวของสภาวะของโลกอย่างเป็น ธรรมชาติและเป็นระบบ แต่แน่นอนว่าปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงนี้เกิดจากอสมดุลในธรรมชาติ โลกจึงนำมาตัวมันเองไปสู่การปรับเปลี่ยนเพื่อให้กลับสู่สมดุลอีกครั้ง และการปรับตัวของโลกใบนี้นี้เอง ได้นำมาซึ่งหายนะความเสียหายมากมายต่อมนุษย์เรา
โลกร้อน..หยุดก่อนที่จะสายเกินแก้
“เรามีเวลาเหลืออย่างมากที่สุดแค่ 10 ปี (นับจากปี 2549) ไม่ใช่ 10 ปีที่จะตัดสินใจทำอะไร แต่เป็น 10 ปี ที่ต้องลงมือทำโดยทันทีทันใดที่จะหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บรรยากาศของโลกกำลังจะถึงจุดวิกฤตแล้ว และถ้าผ่านจุดนี้ไปโลกจะกลายเป็นโลกอีกใบที่แตกต่าง... จะเกิดความผันผวนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงเกินกว่ามนุษย์จะควบคุมและรับมือได้” – ดอกเตอร์เจมส์ ฮันเซน ผู้อำนวยการ สถาบันเพื่อการศึกษาอวกาศ องค์การนาซา หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ...
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ผู้เขียนเข้าร่วมประชุมในเวที “โลกร้อน..ก่อนที่จะสายเกินแก้ ครั้งที่ 2” ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดย เครือข่ายภาคเหนือหยุดโลกร้อน (Northen Climate Change Network - NCCN) เป็นเครือข่ายที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มนักกิจกรรมทางสังคม และกลุ่มประชาสังคมต่างๆ รวมถึงปัจเจกบุคคล ในเดือนสิงหาคม 2551 ภายหลังการประชุมนานาชาติ “Asia Climate Justice” จัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ได้จัดการประชุมเรื่อง “โลกร้อน...ก่อนจะสายเกินแก้ครั้งที่ 1” เพื่อเป็นเวทีนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุและผลกระทบจากากรเปลี่ยนแปลงภูมิ อากาศที่เกิดขึ้น รวมถึงการดำเนินการแก้ปัญหาและการรณรงค์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนอย่าง ยั่งยืนในระดับนานาชาติ, ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น
ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้มีการจัดประชุมอย่างต่อเนื่อง และแสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้ โดยยึดหลักการว่าด้วย ‘ความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ’ หมายถึง ผู้ก่อปัญหาวิกฤตด้านภูมิอากาศจะต้องรับภาระการแก้ปัญหาวิกฤตดังกล่าว มิใช่ให้ผู้อื่นเป็นผู้แบกภาระนั้น แต่ในความเป็นจริงกลายเป็นว่า ผู้ตกเป็นเหยื่อของปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นกับเป็นผู้ที่ไม่ได้ก่อปัญหา และในแถลงการณ์ของเครือข่ายฯ ยังระบุว่า...
“เราขอย้ำว่า การแก้ปัญหาที่ยุติธรรมจะต้องแก้ที่การบริโภคที่มากเกินไปในประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งหลาย รวมทั้งชนชั้นนำในประเทศกำลังพัฒนา การบริโภคที่มากเกินฝังลึกอยู่ในรากเหง้าของกลไกในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ที่เปลี่ยนธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้าต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาล กล่าวอีกอย่างหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม”
“ปัญหาวิกฤตโลกร้อนเกิดจากแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาแบบทุนนิยม ซึ่งมีมิติสำคัญคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่หยุดยั้ง การปกครองและครอบงำพี่น้องชนเผ่าต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเอาเปรียบชาวนาระดับล่าง ชุมชนที่อยู่กับป่า ชุมชนประมง คนขายแรงงาน ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ตลอดจนการส่งเสริมความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและหญิง”
นอกจากนี้ “เราขอประฌามรัฐบาลของประเทศที่พัฒนาทั้งหลาย ที่ไม่ยอมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง เราขอประฌามการส่งเสริมมาตรการแก้ไขปัญหาที่ผิด เช่น การค้าขายคาร์บอน (รวมทั้งกลไกการพัฒนาที่สะอาด และการลดก๊าซคาร์บอนจากการทำลายป่า) การ ส่งเสริมพืชพลังงาน การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ และส่งเสริมพลังงานนิวเคลียร์ และการกักเก็บคาร์บอนไว้ใต้ดิน การแก้ปัญหาเหล่านั้นมีแต่จะเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากขึ้น จะทำให้ภาวะโลกร้อนยิ่งเลวร้ายมากขึ้น และจะขยายความไม่เท่าเทียมกันในโลกเพิ่มขึ้นด้วย
“พวกเราขอยืนยันว่า แรงงาน ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า พลังงานและภูมิอาการ จะต้องไม่ตกเป็นของเอกชน และกลายเป็นสินค้าเพื่อการค้าขาย ดังนั้น การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและยุติธรรม จะต้องตั้งอยู่บนหลักการว่าด้วยการยอมรับความหลากหลาย ความเท่าเทียม หลักประชาธิปไตย ความเป็นอิสระด้านอาหาร ความเคารพต่อสิทธิของพี่น้องชนเผ่า และความเท่าเทียมระหว่างเพศหญิง-ชาย”
ในตอนท้ายของแถลงการณ์กล่าวว่า “การ แก้ปัญหาวิกฤตภาวะโลกร้อนจะต้อง หลุดออกจากระเบียบโลกในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง และจะต้องเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลกอย่างทั่วถึงทุกด้านเสียใหม่ ไม่มีทางแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นได้เลย”
ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง กลุ่มศึกษาเมืองและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกเครือข่ายภาคเหนือหยุดโลกร้อน กล่าวว่า “เรื่องปัญหาโลกร้อน ที่เราผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหานั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่เรากำลังพูดถึงระบบค้ำจุนชีวิตของเรา จากคำกล่าวที่ว่า ‘เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว’ นั้นไม่ใช่การกล่าวที่เกินจริงเลย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกต่างเชื่อมโยงถึงกัน และส่งผลกระทบถึงกัน”
“หากเปรียบเทียบกับคนเรา เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงเกินว่า 37 องศา คนก็จะเป็นไข้ เจ็บป่วย – โลกของเราก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เร่งการผลิต การบริโภคมากขึ้น ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง ก่อให้เกิดมลพิษ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่ปัญหาในตัวของมันเอง แต่มันคือปัญหาของระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรมนั่นเอง” ดร.ดวงจันทร์ กล่าว
เรื่องจริงไม่อิงนิยาย...
สภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ มากมาย และเป็นสิ่งใกล้ตัวเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็กในแอ่งเชียงใหม่ลำพูน ในช่วงหน้าแล้งของทุกปี, ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งทะเลของไทย ปัญหาน้ำท่วม โคลนถล่ม แมลงปีกแข็งจำนวนมากทำลายพืชผลทางการเกษตรและบ้านเรือนฯลฯ
มองออกไปยังต่างประเทศ นอกจากแผ่นน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกละลายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นแล้ว ยังมีภัยแล้งอันเนื่องมาจากการละลายของหิมะและน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัย ที่รวดเร็วขึ้น, ปะการังในทะเลฟอกขาว, เกิดคลื่นความร้อนในอินเดีย, ในขณะที่ในต้นเดือนมกราคมปี 51 นี้ มีหิมะตกที่อิรัก, ในหลายพื้นที่ที่ไม่เคยมี ก็จะพายุเกิดขึ้น พื้นที่ที่เคยมีก็จะมีพายุหมุนเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงขึ้น เกิด Storm Surge ยกตัวอย่างเช่น พายุนาร์กิสที่เข้าถล่มปากอ่าวแม่น้ำอิระวดีของพม่า เป็นต้น, เกิดไฟป่าบ่อยครั้งขึ้น, นักวิทยาศาสตร์ยังเตือนอีกว่า ในฤดูร้อนปี พ.ศ.2560 มีโอกาสถึง 25% ที่คลื่นความร้อนจะมาถึงอังกฤษ และเป็นไปได้ว่าอาจทำให้คนประมาณ 6,000 คนเสียชีวิตได้ (ข้อมูลจากสไลด์การนำเสนอ ของ ดร.ดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551)
ไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร จากข้อมูลการสืบทอดเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาตินั้น ‘ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1 องศา ละอองเรณูของเกสรตัวผู้ของข้าวจะเป็นหมัน ข้าวมีรวงแต่จะไม่ติดเมล็ด หากเราผลิตข้าวไม่ได้ เราจะขาดแคลนอาหาร’ ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ รายงานว่า (1) ในปี 2551 ผู้ผลิตน้ำผึ้งสูญเสียผลผลิต 70% เพราะดอกไม้บานเพียง 2 สัปดาห์ เนื่องจากอากาศร้อน (2) ผู้ปลูกพืชส่งออกสูญเสียพืชผลเพราะการแพร่ระบาดของแมลง เพราะอากาศร้อน (อ้างใน ข้อมูลจากสไลด์การนำเสนอ ของ ดร.ดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551)
อ.ดวงจันทร์ กล่าวต่อว่า มนุษยชาติกำลังเผชิญความท้าทาย 3 ประการ ด้วยกัน ได้แก่ 1.ทำอย่างไรจะหยุดและมิให้โลกร้อนเพิ่มขึ้นอีก 2.ทำอย่างไรจะอยู่กับการเพิ่มขึ้นของโลกร้อน ที่ไม่สามารถหยุดยั้งมันได้ และ 3.ทำอย่างไรจะออกแบบความก้าวหน้าของมนุษยชาติ และการพัฒนาที่ปกป้องจากสภาพภูมิอากาศ และเป็นมิตรกับมัน และทำให้ทุกคนมีโอกาสใช้ทรัพยากรที่เราต้องพึ่งพาอย่างเท่าเทียมตามมาด้วย ภารกิจของทุกคน ที่จะทำอย่างไรที่จะปรับตัวให้อยู่ได้ในสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป (Adaptation) ที่เกี่ยวพันกับเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่สำคัญคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation)
“โดยสรุปข้อเท็จจริงที่เราต้องเผชิญ คือ ยุคพลังงานราคาถูกสิ้นสุดลง และไม่มีวันหวนกลับมาอีก, โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ นับวันจะรุนแรงขึ้น เราทุกคนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้สามารถอยู่ในโลกนี้ต่อไป ต้องทำตั้งแต่บัดนี้ มิเช่นนั้นก็สายเสียแล้ว ต้องคิดให้เป็นระบบ ทำในสิ่งที่ใกล้ตัว”
รูปธรรมในการร่วมกันแก้ไข และบรรเทาปัญหา: ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง เพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า เพราะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก กินมังสวิรัติเพื่อลดก๊าซมีเทน กินอาหารอินทรีย์ เพื่อลดไนตรัสออกไซด์ (จากปุ๋ยเคมี) ลดการก่อมลพิษทุกประเภท ใช้ของพอประมาณ ใช้ทรัพยากรคุ้มค้า ใช้ของจากธรรมชาติ และที่ผลิตในท้องถิ่น เก็บรักษาและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ ร่วมมือกันต้นไม้และสร้างหน้าดิน ลดการใช้เครื่องยนต์ในการเดินทาง มีทางเดินเท้า ทางจักรยาน มีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงาน ผลักดันระบบรางแทนการบิน การจัดการแยกขยะ ส่งเสริมนโยบายที่ลดขยะ ด้วยการ 8R = Rethink คิดใหม่, Reuse ใช้ซ้ำ, Reject ปฏิเสธ, Reduce ลดการใช้, Repair ซ่อม, Refill เติม, Revalue เพิ่มคุณค่า, Recycle การนำกลับมาใช้ใหม่
ตลอดจนการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน (พลังงานลม พลังงานแสงแดด พลังงานแหล่งน้ำขนาดเล็ก พลังงานคลื่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ) การวางผังเมืองและออกแบบบ้านที่รองรับ พร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ร่วมกันผลักดันปรัชญาเมืองสีเขียว ปลูกต้นไม้มากขึ้น ลดมลพิษ และร่วมกันประหยัดพลังงาน.
เศรษฐกิจแบบกรีน แก้วิกฤตแรงงาน
ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่า ในช่วงเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ สังคมหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนมากขึ้น องค์กรและหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงสื่อมวลชน นำเสนอเรื่องนี้กันอย่างแข็งขัน รัฐบาลในหลายประเทศหันมาให้ความสนใจกับปัญหานี้อย่างจริงจังมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ปฏิบัติการมากมายยังต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และระบบทางเศรษฐกิจอีกมาก ดังนี้กล่าวถึงแล้วในข้างต้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของนโยบาย และการจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
โลคัลทอล์ค เคยนำเสนอบทแปลเรื่อง “Green Economy – แก้โลกร้อน แก้วิกฤตแรงงาน” ไปแล้ว ด้วยว่า ในการแก้ไขปัญหาเรื่องโลกร้อนอย่างจริงจัง กำลังนำมาซึ่งความกังวลถึงปัญหาการตกงานทั่วโลกด้วย หากมีการปรับเปลี่ยนฐานการผลิตทางด้านอุตสาหกรรม การลดการผลิตสินค้า หรือแม้แต่การชะลอตัวของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ เขื่อน โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ฯลฯ
ทว่าสหประชาชาติ และขบวนแรงงานนานาชาติออกมาเผยถึงงานวิจัย ถึงมาตรการจัดการกับปัญหาโลกร้อน ที่ยังสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในตลาดโลกได้ ด้วยว่าหากธุรกิจหรือบริษัทต่างๆ หันมาลงทุนกับการจัดการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในขณะเดียวกันมันจะช่วยลดต้นทุนในอนาคต และช่วยให้เกิดการจ้างงานได้ด้วย แบบยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวนั่นเอง
เพราะเรากำลังพูดถึงการปรับเปลี่ยนการลงทุนของรัฐ และภาคเอกชน ให้หันไปลงทุนกับโครงการ หรือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน (ไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานน้ำ ลม แสงอาทิตย์ แทนพลังงานจากถ่านหิน หรือนิวเคลียร์) การลงทุนในภาคการขนส่งมวลชน ที่ใช้รถรางรถไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โรงงานแยกขยะ โรงงานก๊าซชีวภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย
“เรากำลังพูดถึงพลังในการสร้างสรรค์โลกใหม่ ที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น ไม่ใช่การหยุดบริโภค” แต่แน่นอนว่ามนุษย์ก็ต้องลดการอุปโภคบริโภคที่ไม่จำเป็นด้วย!
กาย ไรเดอร์ เลขาธิการสมาพันธ์สหภาพการค้านานาชาติ กล่าวไว้ว่า การเคลื่อนไหวเรื่องนี้ถูกขยับไปในทางที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยการพูดถึงจุด เปลี่ยนที่สำคัญ และระบุถึงประเด็นเรื่องแรงงานที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไป พร้อมๆ กันด้วย ไม่เพียงเท่านั้น การต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน ไม่ใช่การคุกคามความมั่นคงของแรงงาน แต่เป็นการทำให้แรงงานมีสภาพการทำงานที่ดีขึ้น มั่นคงขึ้นในระยะยาว
รายงานฉบับนี้ได้มุ่งทำการศึกษาในพื้นที่ที่คาดว่ามีศักยภาพมากที่สุดที่ จะพิสูจน์ให้เห็นว่าการสร้าง งานและกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปได้จริงในหลายๆ แบบด้วยกัน, การศึกษาที่มุ่งเน้นเพื่อการลดการปล่อยก๊าซสู่ชั้นบรรยากาศโลก หรือลดปัญหาโลกร้อน คาดคะเนว่า หากมีการปรับเปลี่ยน หรือดัดแปลงรูปแบบ วิธีการในการผลิต, ในขณะที่อัตราการจ้างงานบางประเภท ในบางอุตสาหกรรม เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปิโตรเลียม หรืออุตสาหกรรมหนักจะลดลงไป ในขณะที่อัตราการจ้างงานจะมีเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ หากมีการปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนแทน หรือการเปลี่ยนจากการใช้รถส่วนตัวไปใช้บริการรถขนส่งมวลชน ก็เป็นการเพิ่มตำแหน่งงาน หรืออัตราการจ้างงานในสังคมด้วย
แม้กระนั้นก็ตามนักวิจารณ์บาง ฝ่ายกลับมองว่า การเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเช่นนี้ อาจนำไปสู่ปัญหาการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีประสิทธิผลได้ ทั้งนี้ สตีเฟ่น เพอร์ซี่ ผู้อำนวยการด้านนโยบายขององค์การแรงงานนานาชาติ กล่าวว่า ประสิทธิผลหรือประสิทธิภาพที่กล่าวถึงนั้น ต่างก็ถูกวัดจากมาตรฐานเพื่อสร้างความมั่งคั่งที่ไม่ได้คำนึง หรือคำนวณต้นทุนการผลิตอื่นๆ ในสังคมเข้าไปด้วยเลย เช่น อุตสาหกรรมหนัก และใช้แรงงานอย่างหนัก ต่างก็ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ก่อมลพิษ (ละเมิดสิทธิแรงงาน) หรือแม้แต่ส่งผลต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงด้วย
นอกจากนั้น ในรายงานฉบับนี้ ยังได้กล่าวถึงเงื่อนไขที่สำคัญที่ได้ช่วยให้แนวคิดเรื่อง Green Economy นี้ให้ประโยชน์ได้มากขึ้น คือ นโยบายรัฐ และองค์กรภาคส่วนต่างๆ ต้องให้การสนับสนุนด้วย เช่น รัฐบาลเยอรมันได้สนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิ และโครงการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ (เครื่องแปลงแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า) 1 ล้านจุด ในหมู่บ้านชนบทของประเทศบังกลาเทศ ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนร่วมจากองค์กรไม่แสวงหากำไร กรามีนแบงค์ (Grameen Bank)
การเรียกร้องถึงสภาพการทำงาน ของแรงงานที่ดีขึ้น ก็เป็นสิ่งที่รายงานฉบับนี้กล่าวถึงเช่นกัน และหมายรวมถึงความเป็น Green Economy ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการกำจัดของเสีย และการรีไซเคิล รวมไปถึงรัฐบาลต้องกระจายการลงทุนในกิจการต่างๆ ที่หลากหลายด้วย
การประชุมที่บาหลี และพอซแนน
ในช่วงประมาณหนึ่งปีมานี้ เวทีประชาสังคมโลก มีการจัดเวทีพูดคุยเรื่องสภาพภูมิอากาศที่โลกเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนครั้งสำคัญใหญ่ๆ อยู่ 2 ครั้ง คือการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ สมัยที่ 13 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และครั้งที่ 14 ที่เมืองพอซแนน ประเทศโปแลนด์ ช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี่เอง เพื่อจะนำข้อเสนอจากทั้งสองเวทีไปสู่การรับรองร่างร่วมกันของประเทศภาคี สมาชิกภายในการประชุม ครั้งที่ 15 กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในปลายปี ค.ศ. 2009 นี้
ในครั้งที่มีการประชุมที่บาหลี ได้คลอด Bali Action Plan หรือ Bali Roadmap ออกมา เพื่อเป็นการกำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิกดำเนินการเจรจาเพื่อกำหนดข้อตกลงร่วม กันเกี่ยวกับแนวทางการจัดการสภาพภูมิอากาศในช่วงหลังพิธีสารเกียวโตจะหมด อายุลง (ช่วงหลังปี พ.ศ.2557) ให้สำเร็จภายในปี พ.ศ.2009/ 2552 โดยให้มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของโลก จะต้องเริ่มลดลงภายใน 10-15 ปีและลดลงจนเข้าสู่ระดับที่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของระดับการปล่อยใน ค.ศ.2000
นอกจากนี้ ยังให้มีการทบทวนกลไกในพิธีสารเกียวโต เช่น เงื่อนไขของโครงการปลูกป่าเสริมและการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ขนาดเล็กภายใต้ กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism - CDM) ตลอดจนให้มีการกำหนดพันธกรณีที่แต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ในการแบกรับการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
ด้านการประชุมที่พอซแนน ที่มีบรรดารัฐมนตรีและตัวแทนจากกว่า 192 ประเทศเข้าร่วม โดยการประชุมครั้งนี้ถูกคาดหวังว่า จะมีแนวนโยบายหรือมาตรการออกมาเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจนมากยิ่งขึ้น ในการที่จัดการปัญหาโลกร้อน รวมไปถึงการขับเคลื่อนผลการเจรจาจากพิธีสารเกียวโตให้เป็นผลสำเร็จมากยิ่ง ขึ้นด้วย และแม้ว่าสหภาพยุโรปจะยืนยันว่าจะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้มากถึง 20-30% ภายในปี ค.ศ.2020 แต่การประชุมที่พอซแนนครั้งนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมใดๆ ที่แสดงถึงความก้าวหน้า มีแต่สัญญาในแผนระยะยาวที่ให้ไว้ นอกจากนั้นยังต้องรอสัญญาณ และการนำของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ที่จะมาผลักดันเรื่องนี้อย่างแข็งขันต่อไปในปีหน้าด้วย (ข้อมูลจาก http://www.nowpublic.com/environment/poznan-climate-change-talks-global-results-are)
อย่ามุ่งแต่การค้า ต้องคิดจริง ทำจริง
อย่างไรก็ดี การฝากความหวังไว้ที่ผู้นำประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่จะมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ประเทศใหญ่ เล็ก ต่างๆ ก็ยังสามารถเดินหน้าออกนโยบาย และมาตรการเพื่อมารองรับปัญหาว่าด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate Change) นี้ได้เช่นเดียวกัน เพราะทั้งนี้ทั้งนั้น การเริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัว จากสิ่งเล็กๆ ก็สามารถเป็นพลังหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้...
นับแต่การมีพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 กลไกและการขับเคลื่อนเรื่องโลกร้อนถูกพูดถึง ถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก หลังจากนั้นมามีการประชุมหลายต่อหลายครั้ง แต่ข้อกังวลของหลายฝ่ายยังคงวนไปวนมาที่เดิม ที่มุ่งเน้นสร้างผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ พิธีสารถูกมองเป็นเพียงกลไกหนึ่งในเชิงธุรกิจการค้ามากกว่า (เช่น การปลูกป่า, การค้าคาร์บอน,CDM) - ‘มากไปกว่าการทำหน้าที่เป็นข้อกฎหมายสากลร่วมกันในการมุ่งจัดการกับปัญหาโลก ร้อน หรือเพื่อดูและประชาชนโลก และสิ่งแวดล้อม’
นอกจากนี้ ความพยายามในการผลักดัน และกดดันทางการเมือง เพื่อจะรักษาพลังงานฟอสซิลไว้ใต้ดินให้ได้อย่างเดิม และสร้างโอกาส-ความเป็นไปได้ให้กับธุรกิจการลงทุนในโครงการใหม่ๆ แทนนั้น ก็ยังคงไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าใดนัก, แม้ว่าภายใต้ร่มเงาของปัญหาโลกร้อนที่เราทุกคนต่างเผชิญร่วมกันอยู่ทุก วันนี้ จะสามารถเชื่อมโยงให้องค์กร หน่วยงาน กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมด้านสิ่งแวดล้อม และประเด็นอื่นๆ ทั่วโลก เข้ามาเป็นแนวร่วมหรือพันธมิตร ทำงานร่วมกันมากขึ้น กระนั้น ความลักลั่น และเหลื่อมล้ำในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีก็ยังคงดำรงอยู่ รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไป
ไม่เพียงเท่านั้น องค์ความรู้-เทคโนโลยีด้านการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การปฏิรูประบบพลังงาน การขนส่งคมนาคมขั้นพื้นฐาน และอื่นๆ อีกมากมาย ยังต้องการการศึกษาวิจัยอีกมากมาย และต้องเผยแพร่อย่างกว้างขวาง จึงจะทำให้การปฏิบัติการยุติโลกร้อนยั่งยืนขึ้นมาได้ในทั่วทุกมุมโลก รวมไปถึงการสนับสนุน และกระจายการรวมศูนย์ ให้ชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจ สามารถจัดการด้านพลังงานได้ด้วยชุมชนเองอีกด้วย
แม้ว่าจะยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยในประเทศอุตสาหกรรมที่ยังลังเลสงสัยว่า “ภาวะโลกร้อน” เกิดขึ้นจริงหรือ? และกลับมองการค้าคาร์บอน หรือปฏิบัติหยุดโลกร้อนเป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง ช่องทางหนึ่ง หรือตลาดแห่งใหม่ในการทำธุรกิจที่เชื่อมโยงกับประเด็นดังกล่าวเท่านั้นเอง
ฉะนั้นการผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาโลกร้อนครั้งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องของขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องท้าทายของขบวนการทางสังคมในทุกๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองอีกด้วย
เกวน ปรินส์ และสตีฟ เรย์เนอร์ สองนักสังคมวิทยาศาสตร์ ต่างให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า “ความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนใดๆ ในระบอบของพิธีสารเกียวโตนั้น ล้วนแต่ลังเลที่จะรับวิถีทางเลือกอื่นๆ เพราะมันจะหมายถึงการยอมรับอย่างสดุดีที่ว่า นโยบายที่พวกเขากำลังเลือกและจะเลือกทำนั้นมันกำลังดำเนินไปสู่ความล้มเหลว ฉะนั้นความคิดที่เป็นตรรกะก็คือ พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับการลงทุน ลดความสูญเสียลง และพยายามทำอะไรใหม่ๆ ดูบ้าง” – นั่นอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะมาพาพวกสังคมศาสตร์วิพากษ์กลับมาเข้าร่องเข้า รอย ที่จะทำหน้าที่ตอบสนองและรับใช้อนาคตของมนุษยชาติให้ดีขึ้นบ้าง.(http://www.thecornerhouse.org.uk/pdf/document/SocSci.pdf, 2008)
Hey Por!
ReplyDeleteI just know that this is your blog!