6.4.09

Severn : การปฏิวัติทางสิ่งแวดล้อมเริ่มที่ตัวเราเอง


Severn Suzuki ปราศรัยประเด็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเมื่อเธออายุเพียง 12 ปีใน ‘เอิร์ธซัมมิท” ของสหประชาชาติในปีพ.ศ. 2535 จนกระทั่งผู้แทนประเทศบางคนถึงกับหลั่งน้ำตา แต่เมื่อเวลาผ่านไปเธอเริ่มไม่มั่นใจในผู้มีอำนาจหรืออำนาจของปัจเจกชน และในวันนี้สิ่งที่เธอตั้งคำถามกับตัวเองและคนอื่นว่า ‘What do they want for the future? – เราต้องการอะไรสำหรับอนาคต’

ฉัน ตื่นขึ้นมาในเช้าของวันอากาศสดใสวันหนึ่ง ลมพัดเย็นสบาย แสงแดดยังไม่แผดเผาในเวลาช่วงก่อนเที่ยงเช่นนี้ ไฟล์วีดีโออันหนึ่งถูกส่งต่อๆ กัน จนมาปรากฏอยู่ในกล่องข้อความของอีเมลล์ของฉัน...

ฉันเปิดดู ดูแล้ว ดูอีก แล้วตัดสินใจส่งต่อให้เพื่อนๆ อีกร่วมร้อยคน

เชื่อว่าหลายคนอาจเคยเห็นวิดีโอนี้กันมาแล้ว แต่ฉันไม่เคย! ตกยุค ตกสมัย ไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย แต่นั่นไม่สำคัญว่าฉันได้พลาดอะไรไปบ้าง สำคัญที่ว่า เมื่อเราได้รู้ ได้ดู ได้ฟังแล้ว เราจะทำอะไรต่อไปต่างหาก...

มีคำกล่าวหนึ่ง ที่ยังมีคนพูดย้ำๆ อยู่เสมอว่า “คนไม่รู้ ย่อมไม่ผิด” กระนั้นก็ยังไม่แย่เท่ากับ “คนที่รู้แล้ว แต่ไม่ยอมทำ” ฉะนั้นฉันจึงอยากสื่อสารกับผู้อ่านของฉันทั้งหลาย ขอเขียนถึงสิ่งที่ฉันได้ดู ได้ฟัง และอยากจะบอกเล่าให้กับคนที่ยังไม่เคยรู้ เพราะสำหรับตัวฉันแล้ว สิ่งที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งได้ใช้ความกล้า ความสัตย์ซื่อต่อโลก ต่อเพื่อนสัตว์และพืชที่อยู่ร่วมโลกใบนี้กับเรา – พูดถึงสิ่งที่เราทุกคนกำลังเผชิญกันอยู่ได้อย่างมีพลังยิ่งนัก และสิ่งที่เธอเคยพูดไว้ ไม่เคยเก่า หรือตกยุคไปเลย

ต่อจากนี้ คือถ้อยคำของ Severn Suzuki ปราศรัยในการประชุมสุดยอดของโลก หรือ ‘เอิร์ธซัมมิท” ของสหประชาชาติ เมื่อปี ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535) ที่เมืองริโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล - ขณะนั้น เธออายุเพียง 12 ปี

[ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกที่สหประชาชาติรับรองความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนชาวโลกในฐานะ “หุ้นส่วนในการพัฒนาที่ยั่งยืน”]

ซึ่งนับแต่นั้นเรื่อยมา Severn Cullis-Suzuki ได้ ทำงานเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เป็นคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง คนหนึ่งของยุคสมัย เธอเป็นทั้งนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว นักพูดและนักเขียน

ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 16 ปีก่อน นี่คือสิ่งที่หลายคนกล่าวถึง “เด็กผู้หญิง ที่ทำให้ทั้งโลกเงียบงันไป 6 นาที”

“ฉันเป็นแค่เด็ก แต่ฉันก็รู้ว่า โลกใบนี้จะสวยงามและจะน่าอยู่สักเท่าไร หากเงินที่ใช้ไปในสงคราม จะถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ยุติความยากจน และเยียวยาปัญหาต่างๆ”

“ฉัน มาที่นี่ในวันนี้ ไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ - ฉันกำลังสู้ สู้เพื่ออนาคตของตัวฉันเอง เพราะว่าการสูญสิ้นอนาคตนั้น มันไม่เหมือนการพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ไม่เหมือนกับตัวเลขในตลาดหุ้นที่ตกลงเพียงไม่กี่จุด”

“ฉันมาที่นี่เพื่อจะพูดเพื่อให้คนทุกเพศทุกวัยมาร่วมมือกัน”

“ฉันยืนอยู่ที่นี่ เพื่อเป็นตัวแทนของเด็กๆ ที่กำลังอดอยากหิวโหยมากมายทั่วโลก ซึ่งเสียงร่ำไห้ของพวกเขาไม่มีใครได้ยิน ฉันมาเพื่อที่จะพูดให้กับหลายๆ ประเทศที่สัตว์นานาพันธุ์กำลังตาย เพราะไม่มีที่จะอยู่อีกต่อไปแล้ว”

“เพราะโลกใบนี้ ที่ชั้นบรรยากาศ (โอโซน) มีรูพรุนมากมาย ฉันกลัวที่จะหายใจ เพราะฉันไม่รู้ว่ามีสารพิษอะไรบ้างในอากาศที่ฉันสูดเข้าไป ฉันเคยไปตกปลากับพ่อในแวนคูเวอร์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของฉัน แต่เมื่อไม่นานมานี้ เราก็พบว่า ปลาในแม่น้ำเต็มไปด้วยสารก่อมะเร็ง”

“และช่วงเวลานี้ ที่เราได้ยิน ได้ฟัง และรู้ว่า สัตว์และพืชบนโลกมากมายหลายชนิด กำลังจะสูญพันธุ์ไปทุกๆ วัน และจะสูญหายไปตลอดกาล”

“ในช่วงชีวิตนี้ของฉัน ฉันฝันว่าจะได้เห็นฝูงสัตว์ในป่า ได้เห็นฝูงนกนานาพันธุ์ในเขตป่าฝน และผีเสื้อโบยบินในท้องฟ้า แต่ขณะนี้ฉันสงสัยเหลือเกินว่า พวกเขาจะยังเหลือให้ลูกหลานของฉันเห็นอยู่อีกไหม”

“พวกคุณต้องกังวลกับสิ่งต่างๆ นี้หรือไม่ เมื่อครั้งที่พวกคุณมีอายุเท่ากับฉันในตอนนี้”

“สิ่ง เหล่านี้ กำลังเกิดขึ้นอยู่เบื้องหน้าเราแล้ว แต่พวกเราก็ยังไม่ทำอะไร ยิ่งทำเหมือนกับว่าเรามีเวลาเท่าที่เราต้องการ เรามีทางออกสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง แน่ล่ะ ฉันเป็นเพียงเด็กคนหนึ่ง และฉันก็ไม่มีทางออกให้กับปัญหาทุกอย่าง แต่ฉันก็อยากให้พวกคุณตระหนักว่า พวกคุณก็ไม่มีเช่นกัน”

“เมื่อ พวกคุณไม่รู้ว่าจะอุดรูโหว่ในชั้นบรรยากาศได้ อย่างไร เมื่อพวกคุณไม่รู้ว่าจะนำปลาแซลมอนกลับคืนมาสู่ลำธารที่แห้งเหือดไปได้อย่าง ไร พวกคุณไม่รู้ว่าจะนำสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วกลับคืนมาได้อย่างไร ไม่รู้ว่าจะนำป่าไม้กลับมายังที่ที่มันเคยอยู่ ซึ่งได้กลายเป็นทะเลทรายไปแล้ว คืนมาได้อย่างไร ถ้าคุณไม่รู้ ก็ขอจงอย่าได้ทำลายสิ่งเหล่านั้นอีกเลย”

“พวกคุณที่อยู่ ณ ที่นี้ อาจเป็นตัวแทนจากรัฐบาล เป็นนักธุรกิจ ผู้สื่อข่าว และนักการเมือง แต่แท้จริงแล้ว พวกคุณทุกคนก็คือพ่อแม่ พี่น้อง ลุงป้า น้าอา และเป็นเด็กของใครสักคน ฉันก็เป็นเด็กคนหนึ่ง เป็นสมาชิกของครอบครัว ในครอบครัวใหญ่ 5 พันกว่าล้านคน ของสัตว์และพืชอีกกว่า 30 ล้านชนิด เราต่างก็ร่วมแบ่งปันและสูดอากาศเดียวกัน ใช้สายน้ำ และดินเดียวกัน ไม่มีสิ่งใดมากางกั้น และรัฐบาลใดๆ ก็มาเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ไม่ได้”

“ในโรงเรียน แม้แต่ในชั้นอนุบาล พวกคุณสอนพวกเราให้ปฏิบัติตัวอย่างไรต่อโลก สอนให้เราอย่ารบราฆ่าฟันกับคนอื่น ให้เรารับผิดชอบกับการกระทำของตัวเอง อย่าได้ล่าเอาชีวิตผู้อื่น หรือสัตว์อื่น รู้จักแบ่งปัน ไม่ละโมบ แต่ทำไมพวกคุณถึงออกไปและทำสิ่งเหล่านี้เสียเอง ทั้งๆ ที่บอกพวกเราว่าอย่าทำ”

“เราควรจะรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ดั่งโลกเดียวกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน”

“ความโกรธที่มีในใจ ไม่ได้บังตาฉัน และในความกลัว ฉันก็ไม่หวั่นเกรงที่จะบอกกับโลกว่า ฉันรู้สึกอย่างไร... ประเทศบ้านเกิดของฉัน เราสร้างขยะและของเสียมากมายเหลือเกิน เราซื้อแล้วทิ้ง ซื้อแล้วทิ้ง ประเทศโลกเหนือ เราไม่แบ่งปันกับผู้ที่ขัดสนเลย แม้ว่าเราจะมีมาก มากเกินกว่าที่เราต้องการ แต่เราก็ยังกลัวที่จะแบ่งปัน กลัวว่าจะต้องสูญเสียความมั่งคั่งของเราไป”

“เมื่อสองวันที่แล้วที่บราซิลแห่งนี้ เราตกใจมาก เมื่อเราได้ใช้เวลาพูดคุยกับเด็กที่ใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนน เด็กคนหนึ่งบอกกับพวกเราว่า เขาปรารถนาว่า หากวันหนึ่งเขาเกิดร่ำรวยขึ้นมา เขาจะนำไปให้กับเด็กๆ ข้างถนนทั้งหมด ให้อาหาร ให้เสื้อผ้า ให้ยารักษาโลก ให้ที่อยู่อาศัย และให้ความรักและความอบอุ่น”

“ถ้าเด็กคนหนึ่งริมถนน ที่แทบไม่มีอะไรเลย ตั้งมั่นว่าจะแบ่งปัน แล้วทำไม เราที่มีทุกสิ่งทุกอย่างยังคงโลภมาก ฉันหยุดคิดไม่ได้เลยว่าเด็กที่อายุรุ่นเดียวกับฉัน แค่เราเกิดในที่ต่างกันเท่านั้น ทำไมเราถึงได้แตกต่างกันอย่างมโหฬาร ฉันอาจเกิดเป็นเด็กคนหนึ่งใช้ชีวิตอยู่ข้างถนนที่เมืองริโอ ฉันอาจเกิดเป็นเด็กที่อดยากหิวโหยในโซมาเลีย ฉันอาจเป็นเหยื่อสงครามในตะวันออกกลาง ฉันอาจจะเป็นเด็กขอทานในอินเดีย”

“ฉันเป็นแค่เด็ก แต่ฉันก็รู้ว่า โลกใบนี้จะสวยงามและจะน่าอยู่สักเท่าไร หากเงินที่ใช้ไปในสงคราม จะถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ยุติความยากจน และเยียวยาปัญหาต่างๆ”

“ในโรงเรียน แม้แต่ในชั้นอนุบาล พวกคุณสอนพวกเราให้ปฏิบัติตัวอย่างไรต่อโลก สอนให้เราอย่ารบราฆ่าฟันกับคนอื่น ให้เรารับผิดชอบกับการกระทำของตัวเอง อย่าได้ล่าเอาชีวิตผู้อื่น หรือสัตว์อื่น รู้จักแบ่งปัน ไม่ละโมบ แต่ทำไม พวกคุณถึงออกไปและทำสิ่งเหล่านี้เสียเอง ทั้งๆ ที่บอกพวกเราว่าอย่าทำ”

“พ่อแม่อาจพยายามปลอบโยนลูกๆ และพยายามจะบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะดีขึ้นเอง นี่ไม่ใช่จุดอวสานของโลกเสียหน่อย เราทำดีที่สุดแล้วนะ - ฉันไม่คิดว่าพวกคุณจะสามารถพร่ำบอกกับพวกเราอย่างนี้ได้อีกต่อไปแล้ว... พ่อบอกกับฉันเสมอว่า ‘คุณเป็นอย่างที่คุณได้ลงมือทำ ไม่ใช่สิ่งที่คุณพูด’ ”

“นั่นแหละค่ะ สิ่งที่คุณทำอยู่ ทำให้ทุกค่ำคืน ฉันนอนร้องไห้ พวกผู้ใหญ่บอกว่ารักพวกเรานักหนา ฉันขอท้าพวกคุณ ได้โปรดลงมือทำอะไรสักอย่างเถอะค่ะ เพื่อพิสูจน์ว่าพวกคุณรักพวกเราจริงๆ”...

นี่คือ 6 นาที เวลาที่ทั้งโลกเงียบงัน เพื่อให้เสียงดังกังวานของเธอ ได้เขย่าหัวใจคนทั้งโลก

“เรากำลังตกอยู่ในยุคสมัยที่เราน่าจะต้องตระหนักต่อ ปัญหาต่างๆ บนโลกให้มาก – ปัญหาความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ความหลากหลายทางชีวภาพกำลังถูกทำลาย สภาวะอากาศของโลกเปลี่ยน และผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ – แต่พวกเราจำนวนมาก ก็ยังไม่ทำอะไรกัน”

ในเวลาต่อมา Severn ได้เขียนบทความ [18 สิงหาคม ค.ศ. 2002, พ.ศ. 2545] เล่าถึงเหตุการณ์นี้ของตัวเอง

“ฉันใช้เวลาพูดราว 6 นาที ผู้แทนประเทศบางคนถึงกับหลั่งน้ำตา ฉันเคยคิดว่า บางทีสิ่งที่ฉันพูดอาจเข้าถึง หรือกระทบจิตใจของพวกเขาบ้าง คำปราศรัยของฉันอาจจะกระตุ้นให้เกิดการลงมือทำอะไรบางอย่างขึ้นมาจริงๆ ก็ได้ แต่เมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านไป นานกว่าทศวรรษแล้ว ฉันไม่มั่นใจเลยว่า ฉันได้ทำมันสำเร็จ ความเชื่อมั่นต่อกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจ หรือพลังของปัจเจกชนที่จะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ในใจของฉันตอนนี้ มันได้ถูกสั่นคลอนอย่างแรง”

เธอกล่าวว่า กระนั้น เธอก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในบ้านเกิดของเธอเช่นกัน ที่แวนคูเวอร์ คนจำนวนมากหันมารีไซเคิลมากขึ้น มีร้านขายของชำที่ขายสินค้า และผลผลิตเกษตรอินทรีย์ คนหันมาปั่นจักรยานเพิ่มขึ้น มีการใช้รถไฮบริด [รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานทางเลือก - พลังงานจากน้ำมันครึ่งหนึ่ง กับพลังงานไฟฟ้าครึ่งหนึ่ง และในอนาคตอาจจะเป็นพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และพลังงานจากการทำปฏิกิริยาของน้ำ]

ทว่าหนุ่มสาวร่วมสมัยเดียวกับเธออีกจำนวนมาก ยังคงใช้ชีวิตที่แสนจะเหินห่างจากธรรมชาติ – พวกเขามักจะซื้อและดื่มน้ำจากขวดน้ำพลาสติก (ขวดพลาสติกใส หรือ Poly Ethylene Terephthalate - PET) ยังบริโภคสินค้าตัดต่อดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) และพวกเขาก็ยังคงขับรถคันโตอยู่นั่นเอง

“แต่ในเวลาเดียวกันนี้ เราก็กำลังตกอยู่ในยุคสมัยที่ เราน่าจะต้องตระหนักต่อปัญหาต่างๆ บนโลกให้มาก – ปัญหาความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ความหลากหลายทางชีวภาพกำลังถูกทำลาย สภาวะอากาศของโลกเปลี่ยนแปลง และผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ – แต่พวกเราจำนวนมาก ก็ยังไม่ทำอะไรกัน”

“เรา เรียนรู้ที่จะมองอนาคตเพียงแค่ระยะสั้น มุ่งสนใจแต่รัฐบาลที่เข้ามาบริหาร 4 ปี รายงานเศรษฐกิจในแต่ละไตรมาส เราถูกสอนให้เห็นว่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นความก้าวหน้าของสังคม มนุษย์ แต่เราไม่ได้ถูกสอนว่าจะมีความสุขอย่างไร มีสุขภาพดี หรือดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร”

“มาถึงวันนี้ ฉันไม่ได้เป็นเด็กเล็กๆ อีกต่อไปแล้ว แต่ฉันก็ยังห่วงกังวลว่า ลูกหลานในอนาคตของฉันจะเติบโตขึ้นมาในสิ่งแวดล้อมแบบไหนกัน ความรับผิดชอบต่อปัญหาต่างๆ ทั้งหมดทั้งปวงไม่ใช่เป็นของรัฐบาลทั่วโลกเท่านั้น แต่พวกเราทุกๆ คนต้องรับผิดชอบด้วย”

“การประมงในแคนาดา ได้กวาดเอาปลาแซลมอนในแถบชายฝั่งตะวันตก และปลาค็อดในแถบฝั่งตะวันออกไปจนเกือบหมด อีกทั้งพวกเราก็ยังขับรถยนต์ไปมา ทั้งๆ ที่เราก็เริ่มที่จะรู้สึกกันแล้วว่า ปัญหาสภาวะอากาศโลกเปลี่ยนแปลง (Climate Change) นั้นก็เป็นผลมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงอย่างมหาศาลนั่นแหละ”

“เราต้องจัดการกับสิ่งที่เราก่อขึ้น เราต้องเผชิญหน้ากับต้นทุน (ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เรานำมาบริโภค-อุปโภค) ที่แท้จริงในการดำเนินชีวิต เราต้องไม่รอการเปลี่ยนแปลงที่จะมาจากผู้นำเท่านั้น เพราะความเปลี่ยนแปลงนั้นขึ้นอยู่กับตัวเรา เราต้องถือว่านี่เป็นภารกิจการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น เป็นภารกิจของตัวเราเองด้วย แล้วเมื่อนั้นความเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นได้จริงๆ – มหาตมะคานธี เคยกล่าวไว้ว่า ‘We must become the change we want to see’ – ความเปลี่ยนแปลงต้องเกิดที่ตัวเรา หรือตัวเราเองก็ต้องเปลี่ยนแปลง นั่นจึงจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่เราอยากจะเห็น”

Severn ยังได้กล่าวอีกว่า เธอรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั่นเป็นไปได้ เพราะเธอเองก็กำลังเปลี่ยน และยังคงคิดอยู่เสมอว่าจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร ความท้าทายเป็นสิ่งดีเยี่ยมสำหรับตัว Severn ถ้าเราทุกคนยอมรับในความรับผิดชอบของตน แล้วเลือกตัวเลือกที่ทำให้การดำรงชีวิตดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน เมื่อนั้นเราทุกคนก็จะผงาดขึ้นมา และร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของกระแสการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

“เราต้องไม่รอการเปลี่ยนแปลงที่จะมาจากผู้นำเท่านั้น เพราะความเปลี่ยนแปลงนั้นขึ้นอยู่กับเรา เราต้องถือภารกิจการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น เป็นของตัวเราเองด้วย แล้วเมื่อนั้นความเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นได้จริงๆ”

เมื่อ ครั้งยังเด็ก Severn อายุได้เพียงหกขวบ เธอพยายามขายหนังสือของพ่อ ที่สนามหน้าบ้าน เพื่อจะระดมทุนช่วยเหลือชนพื้นเมืองที่กำลังเรียกร้องต่อสู้สิทธิบนแผ่นดิน ของตัวเองที่บริติส โคลัมเบีย

Severn เป็นลูกสาวของนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมชื่อดัง ชาวญี่ปุ่นในแคนาดา David Suzuki ผู้มีบทบาทสำคัญในการทำงานเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม นักผลิตรายการ-สารคดี นักเขียน และมีแม่เป็นนักเขียนชื่อดังนาม Tara Elizabeth Cullis นั่นเป็นปัจจัยที่สำคัญ ที่ทำให้ Severn เติบโตขึ้นมาเป็นนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมคนสำคัญของยุคสมัย เพราะเธอโตขึ้นมาในครอบครัวที่เป็นทั้งนักคิด นักเขียน และเป็นนักเคลื่อนไหวอีกด้วย “พ่อและแม่บอกกับฉันเสมอว่า จงยืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่น” Severn กล่าวให้สัมภาษณ์ในปี 2546

เมื่อ อายุครบสิบขวบ เธอและเพื่อนๆ อีก 5 คนร่วมกันก่อตั้งองค์กรเด็กเพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้น (Environmental Childrean’s Organization – ECO) โดยโครงการแรกที่ Severn และเพื่อนร่วมปฏิบัติการ คือ การระดมทุนเพื่อซื้อเครื่องกรองน้ำให้กับชนพื้นเมืองในเขตป่าฝนของประเทศ มาเลเซีย เนื่องจากแหล่งน้ำของพวกเขาถูกคุกคาม และได้รับผลกระทบจากการตัดไม้ในบริเวณนั้นอย่างหนัก

มาถึงเมื่อปี ค.ศ. 1992 ขณะที่เธออายุ 12 ปี เธอก็ได้ทำให้ผู้นำ หรือตัวแทนระดับประเทศ ถึงกับน้ำตาร่วง หลังจากที่ฟังคำปราศรัยของเธอในการประชุมสุดยอดของโลกที่ประเทศบราซิล จวบจนกระทั่งในวัยยี่สิบปีต้นๆ เธอเรียนจบในระดับปริญญาตรีสาขาด้านวิทยาศาสตร์ – ระบบนิเวศและวิวัฒนาการทางชีวภาพจากมหาวิทยาลัยเยล และเธอก็ยังคงทำกิจกรรม และตระเวนไปทั่วโลกเพื่อกล่าวคำปราศรัย ให้กำลังใจ และกระตุ้นให้เกิดพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้กับคนหลากกลุ่มหลายวัย

“หลาย ต่อหลายครั้งที่ฉันกระตุ้นให้ผู้คนเริ่มคิด และตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็แค่เพียงถามพวกเขาว่า ‘อาหารที่พวกเรา พวกเขากินอยู่ทุกวันมาจากไหน? – ใครปลูก? มีสารเคมีที่ใช้ในการเพาะปลูกบ้างไหม?’ เพราะว่าสิ่งที่เรากินอยู่ทุกมื้อ ในทุกๆ วันนั่นคือ การตัดสินทางการเมืองของคุณด้วย”

เธอย้ำเสมอว่า การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ได้ แค่เราเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิต หรือการกินอาหารเท่านั้นเอง เช่น การที่เธอเข้าร่วมขบวนการอาหารเนิบช้าที่ริเริ่มขึ้นในอิตาลี และแผ่ขยายไปอีกในกว่า 122 ประเทศทั่วโลก มีสมาชิกเข้าร่วมในขบวนการ Slow Food นี้ถึง 83,000 คน ที่หันมาบริโภคอาหารที่เพาะปลูก และผลิตขึ้นในท้องถิ่น เกษตรกรผู้ปลูกไม่ใช้ สารเคมี เป็นต้น

“อาหาร คือ สิ่งที่ทำให้สิ่งแวดล้อมนั่นกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเราทุกคน ผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในระบบสังคมโลก เศรษฐกิจ สุขภาพ และประเด็นต่างๆ ทางสิ่งแวดล้อมของโลก ฉะนั้นหลายต่อหลายครั้งที่ฉันกระตุ้นให้ผู้คนเริ่มคิด และตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็แค่เพียงถามพวกเขาว่า ‘อาหารที่พวกเรา พวกเขา กินอยู่ทุกวันมาจากไหน? – ใครปลูก? มีสารเคมีที่ใช้ในการเพาะปลูกบ้างไหม?’ เพราะว่าสิ่งที่เรากินอยู่ทุกมื้อ ในทุกๆ วันนั่นคือ การตัดสินทางการเมืองของคุณด้วย

หรือแม้แต่ การหันมาปั่นจักรยาน หรือการใช้บริการรถขนส่งมวลชน การหันมาดื่มกาแฟจากแก้วที่นำกลับมาใช้ได้อีก ไม่ใช่กินเสร็จแล้วก็ทิ้งแก้วกระดาษ/พลาสติกนั้นไป และที่สำคัญเริ่มที่จะต่อต้านกับความต้องการในจิตใจตัวเองว่า ต้องซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

ความท้าทายอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญซึ่ง Severn กล่าวถึง คือ การรักษาสิ่งแวดล้อม ในขณะที่หลายคนเชื่อว่า อย่างไรก็ตามก็ต้องรักษาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย “เราจึงต้องพยายามทำให้บริษัท-อุตสาหกรรมต่างๆ เข้าใจให้ได้ว่า หากสิ่งใดที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่ามันย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจด้วย”

ปัจจุบัน สาววัย 29 ปีคนนี้ กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอัลเบอร์ต้า ปริญญาโทสาขาชาติพันธุ์นิเวศวิทยา ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติในโลก ความเชื่อดั้งเดิม หรือแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ แนวคิดทางสังคม การเมือง – วิเคราะห์วิจัยถึงเรื่องความอยู่รอดของชนพื้นเมืองมานับพันปี ด้วยว่ามีการจัดการ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนนั่นเอง นอกจากนี้ Severn และเพื่อนหนุ่มสาวยังร่วมกันก่อตั้งเครือข่ายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมขึ้น โดยให้ชื่อว่า The Skyfish Project [www.Skyfishproject.org] ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น Severn ยังร่วมในขบวนการต่อสู้โลกาภิวัตน์ของ Naomi Klein เจ้าของผลงาน No Logo และ Shock Doctrine ซึ่งวิเคราะห์ – วิพากษ์วิจารณ์กลไก และแนวคิดของระบบทุน ลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้อย่างถึงพริกถึงขิงอีกด้วย

โดย Severn และ Naomi พร้อมทั้งเครือข่ายพันธมิตร ต่างก็เชื่อมั่นในพลังของสตรี ทั้งนี้ในฐานะของผู้เป็นแม่ และด้วยว่าสตรีมีความรู้สึกต่อความทุกข์ร้อน และปัญหาต่างๆ อย่างมาก และพร้อมที่จะเข้าร่วมในขบวนปฏิวัติอย่างเข้มแข็งเพื่อแก้ไขปัญหา ดังจะเห็นได้ว่าในการรณรงค์ต่างๆ หลายครั้ง ไม่ใช่แค่ในประเทศแคนาดาเท่านั้น ที่มีผู้หญิงจำนวนมาก ได้ก้าวขึ้นมานำขบวน และมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้อง เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

Severn กล่าวทิ้งท้ายในการสัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า...

“ตอนนี้ เป็นโอกาส และช่วงเวลาที่ดีสำหรับสร้างความเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ทุกคนรู้สึก เข้าใจและตระหนักแล้วว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น แล้วพวกเขาก็ห่วงใย กังวล และออกมาปฏิบัติการมากยิ่งขึ้น มันช่างน่ามหัศจรรย์ที่เราได้เห็นพลังของมวลชนจำนวนมากออกมาต่อสู้เรียกร้อง ออกมาเดินขบวนเป็นจำนวนมาก และหลายต่อหลายครั้งในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ก็เพราะพวกเขาใส่ใจและต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา (ที่เราทุกคน และโลกกำลังเผชิญอยู่) เราอยากจะทำในสิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง”

“หากคนเราเข้าใจมากขึ้นว่ามนุษย์เราเป็นส่วนหนึ่งของ ธรรมชาติอย่างไร พวกเขาก็จะลุกขึ้นสู้ และยืนหยัดเพื่อดูแลรักษามันไว้ - ฉันเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วในทุกๆ วัน - ถามตัวเองและคนอื่นๆ เสมอว่า ‘What do they want for the future? – เราต้องการอะไรสำหรับอนาคต เราต้องจดจำถึงอนาคตเสมอ’ ”

‘อนาคต’ เวลาสำหรับลูกหลานของเรา สัตว์ พืช และสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนโลกร่วมกับเรา...
.

No comments:

Post a Comment