ภาวะอาหารราคาแพงเกิดขึ้นทั่วโลก แต่มุ่งไปที่การปลูกพืชเพื่อนำไปผลิตพลังงานทดแทน กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พืชในตลาดโลกสูงขึ้น เช่น ธัญพืช เมล็ดพืช และพืชอาหาร อย่าง อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ไม่ใช่ถูกผลิตเพื่อกินอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่ผลิตเพื่อไปทดแทนน้ำมันปิโตรเลียม ฉะนั้นวันนี้ ยุคของอาหารราคาถูก กำลังจะถึงจุดอวสานแล้ว
“การเปลี่ยนที่ดินเกษตรกรรม เพื่อนำไปปลูกพืชที่จะเอาไปเผาสำหรับน้ำมัน ถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เสนอให้ระงับการผลิตพืชน้ำมันเพื่อการค้าเป็นเวลา 5 ปี”Jean Ziegler ผู้ตรวจการสหประชาชาติด้านสิทธิทางอาหาร กล่าว
“ปัญหาวิกฤติขาดแคลนอาหารในประเทศแถบคาริเบียน อาจจะส่งผลกระทบทางด้านความมั่นคงในประเทศได้ในที่สุด”เลขาธิการของสหประชาชาติ นายบัน คี-มูน (Ban Ki-moon) กล่าว
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา ประชาชนชาวเอลซัลวาดอร์ ราว 400 คน ได้ออกมาชุมนุมหน้าธนาคารกลาง ต่างพากันเคาะหม้อกระทะ พร้อมกับป่าวร้อง ประท้วงราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น
โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2007 จนถึงเดือนมกราคมปี 2008 นี้ ราคาขายปลีกถั่วที่เอลซัลดอร์พุ่งสูงขึ้นกว่า 68 เปอร์เซ็นต์ ราคาข้าวเพิ่มขึ้นว่า 56.2 เปอร์เซ็นต์ ข้าวโพดเพิ่มขึ้นราว 37.5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้แต่ละครอบครัวต้องใช้เงินเพิ่มสูงขึ้นในการซื้อหาอาหารให้พอกับความ ต้องการของสมาชิกในครอบครัว
“ฉันสิ้นหวังแล้ว เราทนไม่ได้อีกต่อไป เราไม่เพียงตกงาน แต่ต้องพยายามหาเงินมาซื้ออาหารเลี้ยงลูกๆ และต้องส่งเสียลูกเล่าเรียนด้วย” Guadalupe Lopez แม่บ้านที่ต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพังคนเดียว
“เราเรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค และต้องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำด้วย ไม่เช่นนั้นพวกเราคงไม่รอด เราต้องการอธิปไตยทางอาหารคืนมา เราต้องการความมั่นคงในชีวิต” Francisco Marroquin ชายหนุ่มที่เข้าร่วมชุมนุม ประกาศก้อง
ไม่เพียงคนจนจะเข้าถึงอาหารได้ยากขึ้นแล้ว ด้วยราคาที่สูงขึ้นอย่างมาก หากแต่โดยรวมราคาอาหารทั่วทุกมุมโลกก็ทะยานสูงขึ้นเช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สภาวะนี้มีมาจากสาเหตุหลักอย่างน้อย 2 ประการด้วยกัน คือ แนวโน้มการนำเข้าอาหารจำนวนมากจากจีน และอินเดีย อัตราการเพิ่มการบริโภคของคนในประเทศที่สูงขึ้น และรัฐบาลเองของทั้งสองประเทศ ก็พยายามสนับสนุนการบริโภคเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนนั่นเอง กอปรกับความต้องการนำพืชอาหารไปผลิตเป็นพลังงานไบโอดีเซล หรือเอทานอลในตลาดโลก ส่งผลให้ราคาพืชอาหารเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ Sandra Guevara หัวหน้าขบวนเคลื่อนไหวเพื่อสตรี ยังกล่าวว่า ปัญหานี้ได้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับผู้หญิง ที่มีรายได้ต่ำ และยังต้องหาเงิน อาหารดูแลลูกๆ และคนในครอบครัว บางครัวเรือนมีเงินเพียงหนึ่งดอลล่าร์ (30 กว่าบาท) เท่านั้น ที่จะนำไปซื้ออาหารมาประทังชีวิต
ภาพสะท้อน จากเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง-ประชาชนลุกขึ้นมาเดินบนท้องถนน หลังราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เกิดขึ้นหลายครั้งด้วยกัน ทั้งที่เมืองซาน ซัลวาดอร์ เมืองหลวงของประเทศเอลซัลวาดอร์ที่นำเสนอไปข้างต้น
ยังเกิดการชุมนุมอีกในเวลาต่อมาที่ เมืองอบิดจัน เมืองหลวงของประเทศไอวอรี่ โคสต์ แอฟริกาตะวันตก, ที่นิวอัมสเตอร์ดัม, เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้, เฮติ, กรุงไคโร อียิปต์, เซนัลกัลป์, มัวริทาเนีย, แคมมารูน, ซิมบัมเว เม็กซิโก และอินเดียนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤตราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น การค้าที่ไม่เป็นธรรม รวมไปถึงปัญหาความยากจนที่เรื้อรังในประเทศมานาน ส่งผลให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเพื่อความอยู่รอด
ไม่เพียงเท่านั้น ในพื้นที่หลายแห่ง ได้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มประชาชน และตำรวจที่ต้องการสลายกลุ่มผู้ชุมนุม ด้วยความรุนแรง และกำลังอาวุธ อันนำมาสู่ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย ซึ่งความคับแค้นที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกในเวลานี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนจนในเมือง และชนบทเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มคนทำงาน และชนชั้นกลางในเมืองอีกด้วย
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา เหตุจลาจลที่ประเทศเฮติ ซึ่งเป็นประเทศที่จนที่สุดในทวีปอเมริกา มีประชากรทั้งหมด 8.5 ล้านคน ประชากร 80% ดำรงชีพด้วยเงินที่ต่ำกว่าวันละ 2 ดอลลาร์ ซึ่งอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยความยากจนที่สหประชาชาติกำหนดไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ เลขาธิการของสหประชาชาติ นายบัน คี-มูน (Ban Ki-moon) เคยกล่าวไว้ว่า “ปัญหาวิกฤติขาดแคลนอาหารในประเทศแถบคาริเบียน อาจจะส่งผลกระทบทางด้านความมั่นคงในประเทศได้ในที่สุด”
ด้าน Jeffrey Sachs นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาพิเศษของเลขาธิการยูเอ็น ถึงกับเอ่ยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่นี้เป็นวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ก็ว่าได้ อีกทั้งยังพบว่า หลายประเทศได้ลดกำลังการส่งออกข้าวแล้ว หรือจำกัดไม่ให้ประชาชนในประเทศซื้อข้าวจำนวนมากเพื่อกักตุน
“มันเป็นกลียุคอย่างแท้จริง” ประธานาธิบดี Elias Antonio Saca ของเอลซัลวาดอร์ กล่าวในที่เวทีการประชุมเศรษฐกิจโลกที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก เมื่อวันที่ 16 เมษายน ที่ผ่านมา พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า เราจะสามารถทนกับสถานการณ์แบบนี้ไปได้นานสักเท่าไร มันอาจเป็นภัยที่ไม่เพียงแต่ทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศเรา หรือท้าทายรัฐบาลต่างๆ ที่นั่งบนเก้าอี้แห่งอำนาจในขณะนี้เท่านั้น แต่มันกำลังสั่นคลอนความมั่นคงทางอาหารของทุกประเทศในโลกอีกด้วย และด้วยความกลัวว่าจะมีประชาชนลุกฮือขึ้นมาประท้วง เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลประเทศอินโดนีเซียเองได้เพิ่มงบประมาณอุดหนุนด้านอาหารในประเทศ เป็นกว่า 280 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว
โครงการ อาหารโลก หรือ World Food Programme ระบุว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลราคาอาหารสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเบื้องหลังเหตุการณ์นี้ ความต้องการพืชเพื่อนำไปผลิตพลังงานหมุนเวียน ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พืชในตลาดโลกสูงขึ้นเช่นเดียวกัน และโปรดอย่าลืมว่า ธัญพืช เมล็ดพืช (อย่างเมล็ดทานตะวัน) พืชอาหาร อย่าง อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ไม่ใช่ถูกผลิตเพื่อกินอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว เรากำลังจะผลิตมันเพื่อไปทดแทนน้ำมันปิโตรเลียม ฉะนั้น “ยุคของอาหารราคาถูก กำลังจะถึงจุดอวสานแล้ว”
นอกจากนี้ ฝันร้ายที่ว่านี้ ด้วยราคาอาหารที่แพงขึ้น และภาวะไร้งานทำ กำลังเกิดขึ้นอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก แต่ฝันร้ายกลับเกิดขึ้นซ้ำๆ ในแถบแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ประสบกับภาวะยากจน ขาดแคลนมากที่สุดในโลก เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ชาวเซนัลกัล และชาวมัวริทาเนียก็ได้ออกมาเดินประท้วงบนถนน กับปัญหาข้าวและธัญพืชที่มีราคาแพงขึ้น กันไปยกหนึ่งแล้ว
บนพื้นป้ายผ้า และป้ายไม้ที่ถูกแต้มสีเป็นคำว่า “Fight hunger, demand food security for all” (ต่อสู้กับความหิวและอดอยาก - เรียกร้องความมั่นคงทางอาหารเพื่อเราทุกคน) ถูกชูขึ้นหลา ท่ามกลางขบวนเดินประท้วงที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้
“พวกเราโกรธมาก กับสิ่งที่เราต้องเผชิญและทุกข์ทนมานานเหลือเกิน ด้วยค่าแรงที่แสนต่ำ และกำลังจะถูกขโมยออกไปจากกระเป๋าของพวกเรา ด้วยราคาอาหารที่สูงลิบลิ่ว พวกเรากำลังหมดหนทาง เพราะรัฐบาลที่บริหารงานล้มเหลว แรงงานและคนยากจนต้องไม่มารับกรรมกับสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ก่อ” หนึ่งในผู้ชุมนุมประท้วง กล่าวขึ้น
ขณะ นี้ องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในแอฟริกา และต่างประเทศ กำลังร่วมมือกัน สร้างเครือข่ายและแรงกดดันมากขึ้น เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นที่รับรู้ของคนทั่วโลก ทั้งมุ่งเน้นให้รัฐบาลในแต่ละประเทศ รวมถึงองค์กรการค้า และอาหารที่สำคัญระดับโลก เล็งเห็นถึงปัญหาและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย
ความน่ากลัวที่เรา มนุษย์ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่เพียงแค่วิกฤตอาหารเท่านั้น แต่ด้วยความแปรปรวนของภูมิอากาศโลก ภาวะโลกร้อน ภัยแล้งรุนแรงที่ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ หรืออุทกภัยที่แอฟริกาตะวันตก หรือภัยหนาวสุดๆ ในจีน และอุณหภูมิร้อนที่พุ่งทะลุปรอท ที่ต้องบันทึกไว้ในยุโรปเหนือ คงเป็นปรากฏการณ์อ้างอิงได้อย่างเป็นรูปธรรม และชัดเจนขึ้นว่า โลกเรากำลังตกอยู่ในสภาวะที่ไม่แน่นอน และน่ากลัวเพียงใด แน่นอนว่าจากปัญหาความเปลี่ยนแปลงนี้ได้กระทบต่อการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยวผลผลิตของพืชผัก ผลไม้ หรืออาหารต่างๆ ได้น้อยลงด้วย
“สงครามเย็น” ได้เริ่มขึ้นแล้ว อันเป็นการปะทะกันระหว่างการแย่งพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกพืชอาหารและพืช พลังงาน ปัญหาแย่งชิงน้ำ ทั้งสำหรับใช้ในการเพาะปลูก และในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล ไบโอดีเซล รวมไปถึงปัญหาการขาดแคลนอาหาร ที่มีสาเหตุจากราคาที่พุ่งสูงขึ้น คนจนไม่มีเงินซื้อ ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย อัตราคนตกงานมากขึ้น คนยิ่งเข้าไม่ถึงอาหาร กอปรกับภัย (ที่ไม่) ธรรมชาติ ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ยิ่งเป็นผลให้ผลผลิตทางเกษตรมีจำนวนลดน้อยลง จึงต้องแย่งชิงอาหารกันมากขึ้นไปอีก
ไม่เพียงเท่านี้ การลุกลามของการปลูกพืชพลังงาน ด้วยราคาขายต่อหน่วยที่สูง เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำงานเกษตรกรหันไปปลูกพืชพลังงานมากขึ้น เกิดการบุกรุกที่ป่า เพื่อถางที่ทำเกษตรกรรมพืชพลังงานมากขึ้นทุกขณะ
เมื่อป่าที่สมบูรณ์ แหล่งปัจจัยสี่ของมนุษย์กำลังถูกทำลายมากขึ้นทุกวัน เชื่อว่า อนาคตของมนุษยชาติคงยิ่งมืดมน และเทคโนโลยี – วิทยาศาสตร์ – นวัตกรรมใดเล่าจะแก้ไขหายนะที่ได้อย่างเหมาะสม และยั่งยืน รวมไปถึงภาวะอำนาจในการพึ่งพาตนเองของมนุษย์ก็ยิ่งถูกบั่นทอน เนื่องจากความคิดที่ครอบงำเราทุกคน ให้หันไปปลูกพืชที่สร้างรายได้ สร้างกำไร ได้เงินมาก และนำเงินไปซื้อข้าว ซื้อสิ่งที่เราต้องการ ทุกสิ่งทุกอย่างแลกมาได้ด้วยเงินเสมอหรือไม่
เกษตรกร ที่ ณ วันหนึ่งเกิดปลูกข้าวไว้กิน เหลือไว้ขาย ได้ล้มหายตายจากไปเกือบหมดแล้ว ชาวนาต้องปลูกข้าวขายจากที่ได้กิโลกรัมละ 7-8 บาท เป็น 16-18 บาท แล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อข้าวกิโลกรัมละกว่า 40 บาท... ภาพความอดยาก และความเดือดร้อนกำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ในขณะที่ลัทธิบริโภคนิยม ที่ถูกขับเคลื่อนโดยระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ กำลังถูกโหมส่งเสริมอย่างเอาเป็นเอาตาย
ภาพความขัดแย้งเหล่านี้ จะยิ่งผลักดันให้ความคับแค้น ความโกรธเคืองปะทุขึ้น และปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องต่อไปจากนี้ สงครามเย็นที่มีเชื้อเพลิงคุกกรุ่น กำลังทยอยเผยโฉม ก่อขึ้นเป็นเปลวไฟเด่นชัดมากขึ้นแล้ว...
No comments:
Post a Comment