6.4.09

New Media : สื่อยุคใหม่ อาวุธใหม่เพื่อเสรีภาพ


New Media หรือสื่อยุคใหม่ที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางหลักในการเผยแพร่ข่าว ไม่ว่าเป็นตัวอักษร วีดีโอหรือเสียง ทำให้การสื่อข่าวเป็นไปในลักษณะสองทาง เกิดการโต้ตอบแบบทันทีทันใด จากเวที South East Asia Center for e-Media (SEACeM) ได้นำเสนอการเคลื่อนตัวของสื่อทางเลือกออนไลน์ให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะ Malaysiakini ได้แสดงให้เห็นถึงการใช้สื่ออินเตอร์เน็ตเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน ประสบการณ์การใช้สื่อยุคใหม่

จากประสบการณ์ร่วมของหลายๆ ประเทศในแถบเอเชีย ที่การปกครองแบบรวมศูนย์ ผูกขาดอำนาจของฝ่ายรัฐบาลในหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่ไทยฯลฯ ส่งผลให้เกิดการคุกคามสิทธิเสรีภาพของสื่อมาโดยตลอด การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือสื่ออินเตอร์เน็ต ออนไลน์จึงเข้ามามีบทบาท ในฐานะเครื่องมือตัวใหม่ หรือเป็นอาวุธเสริมสำหรับการต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมได้มากยิ่งขึ้น

กล่าวคือ ในช่วงราว 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ความเติบโตของเทคโนโลยี ได้ก่อให้เกิดเครือข่ายนักข่าวพลเมือง นักข่าวประชาชน บล็อกเกอร์ และเว็บไซต์ข่าวทางเลือกเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ เพื่อเผยแพร่ข่าวสาร หรือใช้พื้นที่ในโลกไซเบอร์ในการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาก ยิ่งขึ้น เช่นเดียวกันกับ มาเลเซียกินี (Malaysiakini หรือมาเลเซียวันนี้) เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่นำเสนอข่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของมาเลเซีย ที่พยายามคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อมาโดยตลอด

เมื่อวันที่ 11 - 13 มิ.ย. 2551, South East Asia Center for e-Media (SEACeM) “องค์กรในเครือข่ายของ Malaysiakini เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ชื่อดังของมาเลเซีย” ได้จัดจากประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของคนทำสื่อใหม่ หรือ New Media ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งทีมข่าวโลคัลทอล์ค และสำนักข่าวประชาธรรมก็ได้มีโอกาสได้ไปเข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกัน

New Media หรือสื่อยุคใหม่ คือ สื่อที่ใช้ช่องทางของอินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางหลักในการเผยแพร่ข่าว ด้วยเทคโนโลยีทุกวันนี้ ทำให้การเผยแพร่ข่าวสารบนอินเตอร์เน็ต ทำได้เกือบทุกรูปแบบ ไม่ว่าเป็นตัวอักษร วีดีโอ หรือ เสียง และเทคโนโลยีบรอดแบนด์ ทำให้การสื่อข่าวเป็นไปในลักษณะสองทางมากขึ้น ผู้อ่านสามารถแสดงความคิดเห็นต่อข่าว หรือโต้ตอบกับผู้เขียนข่าว หรือกลุ่มคนอื่นๆ ที่อ่านข่าวได้เช่นกัน

อีกทั้งการส่งข่าวทำได้อย่างรวดเร็วและมีความสด เท่าทันเหตุการณ์มากขึ้น ไม่ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ในเช้าวันรุ่งขึ้นอีกต่อไป รวมไปถึงความสามารถในการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ได้เช่นเดียวกับทีวี แบบ Real Time แต่ในขณะที่ถ่ายทอดสดผ่านอินเตอร์เน็ตนี้ ใช้ทั้งต้นทุนที่ต่ำ และขั้นตอนที่น้อยกว่าการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์อย่างมาก


สื่อใหม่เพื่อประชาธิปไตย
การประชุมในครั้งนี้แบ่งเป็น 4 หัวข้อหลักคือ 1. สื่อใหม่เพื่อประชาธิปไตย 2. ความยั่งยืนทางธุรกิจของสื่อใหม่ 3. การรายงานข่าวในรูปแบบ VDO 4. มิติใหม่ของการรายงานข่าว ซึ่งแต่ละหัวข้อมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

สื่อใหม่เพื่อประชาธิปไตย เวทีนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการใช้สื่อใหม่เพื่อเสนอข่าวสารทาง การเมืองและสิทธิมนุษยชน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นประเด็นหลักที่ถูกนำเสนอของที่ประชุมซึ่งส่วนใหญ่มาจาก ภาคประชาสังคม โดยมีกรณีศึกษาจาก 5 ประเทศดังนี้

(1) ผู้สื่อข่าวพลเมืองและการส่งเสริมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์ โดย Rachel E. Khan หัวหน้าภาควิชานักหนังสือพิมพ์ คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ Rachel ได้นำเสนอการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนผ่าน บล็อก และ เว็บไซต์ อาทิ โครงการการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของฟิลิปปินส์, Freedom Watch และ MindaNews ผลสะเทือนจาก Malaysiakini.com ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 12 ของมาเลเซีย

(2) Janet Steele ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านนักหนังสือพิมพ์ ภาควิชาสื่อและการสาธารณะ มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน Janet ได้นำเสนอเหตุการณ์ที่พรรครัฐบาลมาเลเซียที่กุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้สูญ เสียที่นั่งสองในสามในรัฐสภา โดยที่สื่อใหม่โดยเฉพาะ Malaysiakini ที่มีบทบาทสำคัญในการเสนอข่าวสารที่มีคุณภาพผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

Janet นักวิชาการการจากวอชิงตันดีซี กล่าวว่า หากสงครามอ่าวเปอร์เซีย ((Persian Gulf war) ได้สร้างให้ CNN ผงาดขึ้นมาแล้วล่ะก็ การเลือกตั้งทั่วไปในมาเลเซียครั้งที่ 12 ที่ผ่านมาก็ได้ทำให้มาเลเซียกินีผงาดขึ้นมา ทำให้คนรู้จักมาเลเซียกินีอย่างมากขึ้นนั่นเอง

“ด้วยมาเลเซียกินี มีการนำเสนอเนื้อหา ข่าวสาร ที่คำนึงถึงความหลากหลายของเชื้อชาติของผู้คน ชนชั้น ที่อาศัยอยู่ในมาเลเซีย ซึ่งสื่อใหม่ หรือที่เราเรียกกันว่า New Media นี้ เอง ที่ทำให้โฉมหน้าของผู้คนที่มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ศาสนา ได้เข้ามาโลดแล่น สื่อสารเรื่องราวของตนเองผ่านโลกข้อมูลข่าวสารในอินเตอร์เน็ตได้มากยิ่งขึ้น กระนั้นก็ตาม “อินเตอร์เน็ต” ก็ยังคงเป็นเพียงเทคโนโลยี เป็นสื่อกลาง สิ่งที่ต้องคำนึงอยู่เสมอคือ ‘ใครใช้สื่อ’ และ ‘ใช้เพื่ออะไร เพื่อใคร’ ด้วย” Janet กล่าว

(3) ส่วนตัวแทนจากประเทศไทย นำเสนอเรื่อง “การเติบโตของสื่อใหม่หลังการรัฐประหาร 19 กันยาในประเทศไทย” โดย ชูวัส เลิศสิริสุข บรรณาธิการ prachatai.com ชูวัสนำเสนอสถานการณ์สื่อโดยเฉพาะหลังหารรัฐประหารซึ่งมีการใช้กฎหมาย อาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และการปิดหรือบล็อกเว็บไซต์ของรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อสื่อใหม่ในไทย เพราะแม้ว่า จากจำนวนประชากรไทยทั้งหมดราว 63 ล้านคน มีผู้ที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตมีประมาณ 8 ล้านคน แต่ในช่วง 2-3 ปีหลังการรัฐประหาร พบว่ามีคนเข้ามาใช้อินเตอร์เน็ตกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งแสดงให้เห็นถึงมิติที่ดีของความกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมของคน ไทยมากยิ่งขึ้น

ในขณะเดียว กัน ประชาชนในประเทศพม่าที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ มีจำนวนน้อยกว่า 1% ของจำนวนประชากรชาวพม่าทั้งหมด จากข้อมูลการนำเสนอ (4) “สื่อใหม่กับการต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า” โดย Soe Myint ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าว www.mizzima.com ทั้งนี้ Soe Myint นำเสนอสถานการณ์การทำงานสื่อในพม่า ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารที่ยาวนานสืบเนื่องมามากกว่า 40 ปี

ตลอดจน เรื่องที่ไม่เคยถูกพูดถึงเกี่ยวกับสิงค์โปร์ โดย (5) Choo Zheng Xi บรรณาธิการเว็บสื่อที่วิพากษ์รัฐบาล www.theonlinrcitizen.com Choo นำเสนอ การนำเสนอข่าวด้านการเมืองโดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสิงค์โปร์ ประเทศซึ่งมีความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจแต่ล้าหลังด้านเสรีภาพการแสดงความคิด เห็น

เพราะแม้ว่าชาว สิงคโปร์ จะสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างกว้างขวาง แต่รัฐบาลก็มีการเซ็นเซอร์ หรือบล็อกเว็บบางเว็บ ทำให้ไม่สามารถเข้าได้ และกฎหมาย ตลอดจนธรรมเนียมความเชื่อที่ถือปฏิบัติกันสืบมา กล่าวคือ “เชื่อผู้นำดีที่สุด อย่าตั้งคำถามกับผู้นำประเทศ” ส่งผลให้ข้อมูลข่าวสารนำเสนอเพียงด้านเดียว แต่ปัจจุบันมีนักศึกษา นักวิชาการรุ่นใหม่ ที่กำลังพยายามนำเสนอข้อมูลข่าวสาร วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น

กระนั้นสำหรับประเทศที่เพิ่งแยกตัวออกมาเป็นอิสระได้ไม่นาน อย่าง (6) ติมอร์ตะวันออก ความก้าวหน้าด้านสื่อยังคงเป็นปัญหา และยังไม่ถูกให้ความสำคัญมากนัก เนื่องจากปัญหาที่สำคัญกว่านั้น คือ ปัญหาเรื่องปากท้อง และความเป็นอยู่ของชาวติมอร์นั่นเอง

ความยั่งยืนทางธุรกิจของสื่อใหม่
ในหัวข้อถัดมา ด้านความยั่งยืนทางธุรกิจของสื่อใหม่ เวทีนี้เป็นการแนะนำช่องทางและกลยุทธ์ทางการตลาดของสื่อใหม่ ทั้งรูปแบบการทำตลาดแบบธุรกิจ และรูปแบบองค์กรไม่แสวงกำไร ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจ online และหน่วยงานที่ให้ทุนมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดังนี้

(1) การพิจารณาลงทุนในโครงการสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดย Sivapalan Vivekarajah ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้ประกอบการ (entrepreneurship) และเป็นที่ปรึกษาและวางแผนด้านผู้ประกอบการทั้งในภาครัฐและเอกชน Dr.Sivapalan นำเสนอถึงปัจจัยต่างๆ ที่จูงใจให้นักลงทุนมาลงทุนในพื้นที่ของสื่อใหม่

(2) องค์ประกอบที่สำคัญในการขอทุน โดย Jerry McDonald รองประธานอาวุโสและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของ Caring Plople Alliance หนึ่งในสิบหน่วยงานไม่แสวงกำไรที่ใหญ่ที่สุดในฟิลาเดลเฟีย Jerry ได้กล่าวถึงปัจจัยที่สำคัญของการขอทุนจากแหล่งทุน นั่นก็คือจะทำอย่างไรให้งานของคุณตรงกับวัตถุประสงค์และงานของแหล่งทุนความ ยั่งยืนทางธุรกิจยุค 2.0

(3) Colin Wong ซีอีโอของ ZoeCity Social Network ของชุมชนคริสเตียน และยังเป็นผู้มีประสบการณ์จากการร่วมงานกับ Google ในโครงการ Adwords/Adsense Colin ได้นำเสนอรูปแบบทางธุรกิจของสื่อที่ใช้เทคโนโลยีเว็บ 2.0 รายงานสถานการณ์การโฆษณาบนสื่อออนไลน์ในเอเชีย โดย Shelly Ng จาก Pixel Media Shelly ได้นำเสนอตัวอย่างของการขายโฆษณารูปแบบต่างๆ บนเว็บไซต์และบนโทรศัพท์เคลื่อนที่

รายงานด้วยภาพ รายงานด้วย VDO
เมื่อ นิวมีเดีย เป็นยุคของ “ทุกคนสามารถแสดงออก และสื่อสารได้” ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยเทคโนโลยี และแนวคิดของ web 2.0 ทำให้หน้าอินเตอร์เน็ตเกิดการสื่อสารสองทาง สามทางมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดเป็นชุมชนอินเตอร์เน็ตขนาดใหญ่ เช่น ชาว wikipedia, hi5, twitter และ facebook ขึ้นมานั่นเอง

การ บันทึก clip video และนำมาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ ถือเป็นการนำเสนอที่ช่วยเสริมให้ข่าวมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น เพระเป็นการถ่ายภาพมาจากเหตุการณ์จริง เห็นสีหน้าท่าทางของผู้ที่อยู่ในที่เกิดเหตุ หรือผู้ที่นักข่าวสัมภาษณ์ เป็นเหตุการณ์ หรือหลักฐานพิสูจน์ได้ดียิ่งขึ้น สร้างความสะเทือนใจ และส่งผลกระทบได้มากขึ้น เช่น กรณีที่ตำรวจนายหนึ่งทำร้ายผู้เข้าร่วมประท้วงอย่างแสนสาหัส มีคนถ่ายภาพด้วยกล้องจากมือถือไว้ได้ ทำให้เรื่องนี้ถูกนำเสนอเป็นข่าว เรียกร้องให้ตำรวจนายนั้นรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่มีใครทราบว่าหากไม่มีหลักฐานนี้ นายตำรวจคนนั้นจะยอมรับผิดชอบหรือไม่

(1) ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ MyLiveTV - Live News Broadcasting โดย Alain Augsburger ผู้ก่อตั้งและประธานของ MyLiveTV, Inc.บริษัทที่ทำธุรกิจการออกอากาศทางอินเตอร์เน็ต ประเทศสหรัฐอเมริกา Alain ได้อธิบายถึงศักยภาพของเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน ที่ใครๆ ก็สามารถมีสถานีโทรทัศน์ส่วนตัวได้เพียงมีกล้องวีดีโอที่ราคาไม่แพง หรือแม้แต่ภาพที่ถ่ายด้วยกล้องจากโทรศัพท์มือถือก็สามารถนำมาแบ่งปัน เผยแพร่ผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้

(2) รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของ Malaysiakini.tv โดย Shfiyan Shukor ผู้ผลิตงานอาวุโสของ Malaysiakini.tv Shukor นำเสนอประวัติและผลงานของ Malaysiakini.tv ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2006 รวมทั้งวิธีการและแง่มุมในการนำเสนอที่ทำให้ Malaysiakini.tv แตกต่างจากสื่อกระแสหลักอื่นๆในมาเลเซีย

(3) Interactive Live TV on Your Desktop โดย David Brewer Livestation เป็นโปรแกรมแสดงรายการโทรทัศน์บนหน้าจอคอมพิวเตอร์คล้าย Windows Media player หรือ Apple Quicktime แต่มีฟังชั่นที่ทำให้ผู้ชมสามารถโต้ตอบระหว่างการชมรายการ หรือ comment ในจุดที่ต้องการได้

(4) ตลอดจนเว็บไซต์น้องใหม่อย่าง Earth247.tv การรวมตัวเทคโนโลยี 2.0 ที่ดีที่สุด โดย Premesh Chan ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ Malasiakini.com เปิดเผยถึงโครงการสถานีข่าวออนไลน์ earth247.tv ที่ malaysiakini กำลังพัฒนาอยู่ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมข่าวในเครือข่ายของ malasiakini ซึ่งมีพันธมิตรสื่อกว่า 62 องค์กรใน 21 ประเทศร่วมกันอัปเดตข่าวสารออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง

ปิด ท้ายด้วยการนำเสนอ ประสบการณ์จากการทำงานในพื้นที่ประสบภัยพายุไซโคลนนาร์กีส โดย (5) Thin Thin Aung ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริหารของสำนักข่าว Mizzima Mizzima เรียกได้ว่าเป็นสำนักข่าวแรกๆ ที่รายงานความเสียหายจากพายุไซโคลนนาร์กีส ที่เข้าโจมตีพม่าในวันที่ 3 พฤษภาคม ทั้งที่ขณะนั้นทาง Mizzima เตรียมที่จะรายงานข่าวการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการรายงานข่าวเกี่ยวกับพายุไซโคลนบนเว็บไซต์ของ Mizzima ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเพราะเป็นเรื่องจริงจากพื้นที่

นิวมีเดีย: รายงานสดออนไลน์ผ่านหน้าคอม
(1) Jeremy Wagstaff นักวิจารณ์และกูรูทางเทคโนโลยี นำเสนอถึง “10 ตำนานเกี่ยวกับเว็บ 2.0 และสื่อใหม่” โดย Jeremy กล่าวว่า องค์กรสื่อในปัจจุบันกำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคเว็บ 2.0 ซึ่งเว็บ 2.0 นั้นทำให้รูปแบบการรายงานข่าวเปลี่ยนไป เพราะองค์กรสื่อไม่ได้เป็นเจ้าของรายงานข่าวแต่เพียงผู้เดียวบนเว็บ 2.0 อีกต่อไป ไม่เพียงเท่านั้น การสื่อสารสองทาง และแบบเครือข่ายทำให้เกิดชุมชนออนไลน์ขนาดใหญ่ขึ้นมาด้วย

ทว่า หลายฝ่ายร่วมกันถกเถียงกันถึงเรื่องของการนำเสนอในโลกยุคใหม่ๆ ที่เป็นการนำเสนอของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ รวมไปถึงผู้คนที่สามารถความคิดเห็นต่อเรื่องนั้นๆ ได้อย่างเสรี ฉะนั้น คำนิยามของคำว่า “ข่าว” ก็อาจจะไม่ตายตัว หรือเป็นไปตามแบบแผนของข่าวเสมอไป อาจไปเขียนคำบอกเล่า ความรู้สึก แม้จะไม่ใช่ข่าว แต่ก็สามารถสื่อสารประเด็นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวมืออาชีพ หรือนักข่าวประชาชน บล็อกเกอร์ต่างๆ ต้องมีความรับผิดชอบต่องานที่ตนเขียน หรือสิ่งที่ตนแสดงออกมาด้วย

(2) Semantic Web และการจัดเก็บคลังปัญญาเพื่อการรายงานข่าว โดย อาทิตย์ สุริยวงษ์กุล นำเสนอรูปแบบของเว็บยุคที่ 3 หรือ web 3.0 ที่มีความสามารถในการจัดความสัมพันธ์ของข้อมูลและแสดงผลลัพธ์ด้วยระบบปัญญา ประดิษฐ์

(3) Open Data, Visualzation and Usability for Online News Delivery โดย Mohanaraj Gopala Krishma และ Goh Sze Ying ทั้งคู่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของเว็บไซต์ได้นำเสนอเทคโนโลยี ระบบข้อมูลแบบเปิด การแสดงผลของข้อมูล เนื้อหาที่สร้างโดยชุมชนของเว็บไซต์ และ สถาปัตยกรรมการออกแบบเว็บไซต์ ทั้งหมดนี้สามารถนำมาเสริมศักยภาพของเว็บไซต์ทางสังคมได้

(4) ระบบแผนที่เพื่อการรายงานข่าว โดย Yeow Shin We สมาชิกผู้ก่อตั้ง Earth@sg (www.earthsg.com) ซึ่งเป็นระบบบริการเว็บไซต์ในการจัดการความรู้ ได้นำเสนอเทคโนโลยีแผนที่ออนไลน์ที่บูรณาการกับการแสดงผลทั้งบนเว็บไซต์ แบบจำลอง 3 มิติ และวีดีโอ เทคนิคถ่ายทอดสดบนมือถือ

(5) ส่งท้ายด้วย การนำเสนอจาสายลับนักข่าว Olaf Lohmann จาก www.livecast.com ที่ให้บริการเทคโนโลยีการถ่ายทอดสดผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือผ่านทางเว็บไซ ต์ โดยอาศัยโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตได้เพื่อส่งภาพสดๆ ออกอากาศทางเว็บไซต์รวมทั้งระบบจะบันทึกภาพนั้นเพื่อมานำเสนอในรูปแบบวีดีโอ ภายหลัง

งานนี้เป็นการอัปเดตทั้งทางเทคโนโลยีและสถานการณ์คนทำ สื่อแบบ New Media ซึ่งทั้งหมดกำลังปรับตัวไล่ตามเทคโนโลยี และ ค้นหาว่าเทคโนโลยีใดเหมาะสมกับการนำเสนอเหตุการณ์ในพื้นที่ของตัวเองที่สุด

ปรากฏการณ์เบื้องหลังความทันสมัย
ข้อสังเกตที่เกิดขึ้น จากการเข้าร่วมประชุมในเวทีนี้ บางฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า แม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไปล้ำหน้ามากเพียงใด แต่การเข้าถึงสื่อออนไลน์เหล่านี้ ยังมีคนอีกจำนวนมากไม่สามารถทำได้ ฉะนั้นโจทย์ใหญ่ที่สังคมสื่อต้องช่วยกันคิด คือ จะทำอย่างไร ที่จะนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไปสนับสนุน-ส่งเสริมขบวนการภาคประชาชนให้ เข้มแข็งมากขึ้น หรือแม้แต่จะทำอย่างไรให้สื่อใหม่ รวมไปถึงสื่อนอกกระแส สื่อทางเลือก ทำงานบนความเคารพในความหลากหลาย ตลอดจนสามารถนำเสนอเรื่องราวที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางสังคมได้ด้วย

การต่อสู้บนสนามของโลกไซเบอร์ คงไม่ใช่เพียงแค่การนำเสนอสดผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็วฉับไว หรือแสดงออกถึงความทันสมัยของการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนออนไลน์เพียง เท่านั้น แต่เบื้องลึกเบื้องหลังของปรากฏการณ์นี้ ควรต้องนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การร่วมกันช่วยกันขจัดความอยุติธรรมในสังคม นำเสนอปัญหา หรือเรื่องราวที่นำไปสู่ความเข้าใจในสังคมเพราะปัจจุบัน สัดส่วนจำนวนมากของผู้ที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ส่วนใหญ่เป็นคนในเมือง ชนชั้นกลาง และผู้นำชุมชนบางส่วนเท่านั้นเอง

เจเน็ต นักวิชาการชาวสหรัฐอเมริกา พูดถึงข้อดีของการเป็นสื่อนอกกระแสว่า แม้บางครั้งดูเหมือนองค์กรเหล่านี้จะมีขนาดเล็ก โครงสร้างการทำงาน และการบริหารไม่ซับซ้อน แต่แท้จริงแล้ว นั่นเป็นข้อเด่น เพราะความยืดหยุ่นในการทำงาน การปรับตัว การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้สื่อออนไลน์ สื่อทางเลือก หรือสื่อนอกกระแส ตอบสนองความต้องการของผู้อ่านได้ดี อีกทั้งยังสามารถขับเคลื่อนประเด็นอย่างมีพลังได้เช่นเดียวกัน

ยุคใหม่ของการสื่อสารที่แท้จริง คงเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนที่มีความหลากหลายได้เข้ามาแลกเปลี่ยน พูดคุย เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจระหว่างกันนั่นเอง ความตึงเครียดมากมายทางการเมืองและสังคม ที่ปรากฏอยู่ในหลายๆ ประเทศในขณะนี้ สาเหตุหนึ่งคือ น้อยครั้งเหลือเกินที่เราเปิดโอกาสที่จะคุยกัน แลกเปลี่ยน และสิ่งที่สำคัญคือ เราไม่ค่อยเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง ตลอดจนใช้ความรุนแรงในการจัดการความขัดแย้งอยู่ร่ำไป...

No comments:

Post a Comment