ภาพจาก http://i.treehugger.com/files/gmo-patent-pending-01.jpg
เทคโนโลยีทางชีวภาพ แบบหนึ่งที่เรารู้จักกันดี คือ การตัดต่อพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ (Genetically Modified Organisms or GMOs) ซึ่งก็เป็นหัวข้อที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงการทางวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง ว่าแท้จริงแล้วข้อดีข้อเสียของจีเอ็มโอคืออะไรกันแน่ แต่แม้ไม่มีเทคโนโลยีตัวที่ว่านี้ เกษตรกรก็มีวิธีการคัดเลือกเมล็ด และพัฒนาสายพันธุ์พืชที่มีมานานแล้ว ทั้งยังเป็นกระบวนการที่ปล่อยให้เป็นไปตามวิถีของธรรมชาติ และมักจะเป็นการผสมในสายพันธุ์เดียวกัน
ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้า และทั้งก้าวกระโดดอย่างมากของจีเอ็มโอนี่เอง ทำให้มีการผสมข้ามสายพันธุ์ ข้ามประเภท ไม่ว่าจะเป็นการใส่ยีน (หน่วยพันธุกรรม) แบคทีเรียลงไปในข้าวโพด ใส่ยีนต้านการเยือกแข็งของปลาลงในมันฝรั่งฯลฯ มีข้ออ้างต่างๆ นานาในการเดินหน้าทดลองและนำใช้พืชจีเอ็มโอของบรรษัทยักษ์ใหญ่อย่างมอนซานโตนั้น เราลองมาดูซิว่าเขามีเหตุผลอะไรกันบ้าง
ข้ออ้างข้อแรก ของทางฝั่งมอนซานโต นั่นก็คือ เทคโนโลยีทางชีวภาพนี้จะช่วยให้เราสามารถขยายสายพันธุ์พืชให้ดีกว่ายิ่งขึ้นได้ เพิ่มปริมาณผลผลิต ทั้งนี้ก็เพื่อการช่วยลดบรรเทาความอดยากหิวโหยของจำนวนประชากรโลกที่นับวันก็มีแต่จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จากข้อมูลงายวิจัยล่าสุด การตัดต่อพันธุกรรมพืช หรือการพัฒนาสายพันธุ์กว่า 80% เป็นไปเพื่อให้พืชมีภูมิต้านทานโรคและแมลงให้ดีขึ้น ส่วนที่เหลือเป็นการยืดอายุให้พืชผัก ผลไม้สุกช้ากว่าปกติเพื่อให้การขนส่งสินค้าได้นานขึ้น หรือพยายามให้มีปริมาณน้ำมันในเนื้อมันฝรั่งลดน้อยลง ไม่มีการการดัดแปลงเพื่อการผลิตอาหารที่พัฒนาเพื่อคุณภาพอาหารอย่างแท้จริง เพื่อความหิวโหยเลย
ยกตัวอย่าง การพัฒนาพันธุ์ข้าวสีทอง กล่าวคือ เป็นการเพิ่มสารเบต้า แครอทีน (ช่วยสร้างแหล่งกักเก็บวิตามินเอให้ร่างกาย) ซึ่งเป็นการพัฒนาอาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าหรือสารอาหารบางอย่างให้พืช แต่ไม่ได้เป็นความพยายามจะตอบปัญหาที่จะลดปัญหาประชากรโลกที่กำลังประสบภาวะขาดสารอาหาร หรือมีอาหารไม่เพียงพอแต่อย่างไร
ภาวะขาดแคลนอาหาร หรือความอดยาก มีสาเหตุจากความยากจน พืชจีเอ็มโอไม่ได้เปลี่ยนแปลงความเป็นจริงตรงนี้ได้เลย (มีแต่สร้างความร่ำรวยให้กับบรรษัทนายทุน) ตอนนี้เรามีอาหารมากเพียงพอที่จะให้กับมนุษย์ทุกๆ คนบนโลกอย่างน้อยที่สุด คนละ 3,500 แคลอรี่ต่อวัน สูงกว่ามาตรฐานความความต้องการอาหารในแต่ละวันด้วยซ้ำ (แต่เนื่องด้วยปัญหาการกระจายทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม และเท่าเทียม นโยบายทางการเมือง และนโยบายทางเศรษฐกิจของโลกยุคโลกาภิวัตน์ต่างหากที่เป็นสาเหตุสำคัญ) ปัญหาที่เป็นอยู่จึงไม่ใช่ความอดยากที่ผลผลิตไม่มากพอ
แต่ตอนนี้ กลับมีเด็กจำนวนมากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และกินอาหารเกินความจำเป็น (เช่น โรคอ้วนของเด็ก และผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ จากการกินอาหารฟาสฟู้ดมากจนเกินไป) ฉะนั้นโลกจึงต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ที่จะกระจายอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ไปสู่ประเทศต่างๆ ในโลกจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่การหันมาสู่พืชจีเอ็มโอ (อีกทั้งผลผลิตจากการทำเกษตรกรรมตามธรรมชาติให้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ และมีความยั่งยืนมากกว่าเกษตรเข้มข้น หรือการตัดตอนการเติบโตทางธรรมชาติด้วยจีเอ็มโอ)
มาเห็น blog แล้ว ทำเอาฺ Blogตัวเองรู้สึกเป็นเด็กไปเลย
ReplyDeleteเป็นกำลังใจให้ครับ
ผมมีความรู้น้อยมากครับ เกี่ยวกับ GMOs
ReplyDeleteรู้แต่ว่าอาหารที่เข้าปากเราทุก ๆ วันจำนวนมากผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรมมาแล้ว
ดังนั้นความเห็นของผมต่อ GMOs ยังไม่ชัดเจน
แต่ผมชอบย่อหน้าสุดท้ายของคุณนะครับ...
ทุก ๆ วันนี้เกษตรกรของประเทศไทยกลายเป็นเครื่องจักรผลิตอะไรสักอย่างป้อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมไปแล้ว
ที่บ้านผมที่น่าน (จริง ๆผมเป็นคนเชียงใหม่ แต่จับผลัดจับผลูกลายเป็นคนน่านไปแล้วครับ) เกษตรกรแห่กันปลูกข้าวโพดอย่างหนัก ชนิดที่ดอยเป็นม่อน ๆ มีแต่ไร่ข้าวโพด เพื่อที่จะกลายเป็นขยะ เพราะราคาตก และที่น่าตกใจคือ เมื่อผมถามชาวบ้าน พี่ ๆ น้อง ๆ ที่โบสถ์ผมว่า ไอ้ข้าวโพดพวกนี้มันเอาไว้ทำอะไร คำตอบที่ได้คือ ข้าวโพดพวกนี้ส่วนหนึ่งกลายเป็นอาหารสัตว์ และส่งเข้าโรงงานไปทำอะไรก็ไม่รู้อีก อาจจะกลายเป็นแป้งข้าวโพด ฯลฯ ซึ่งคนปลูกเองก็ไม่รู้ และไม่รู้ด้วยว่าผลิตผลที่ล้นตลาดจนแทบจะกลายเป็นขยะ จะสามารถเอามาเพิ่มมูลค่าได้อย่างไร
ในขณะที่หนี้สินก็เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่จะต้องซื้อปุ๋ย ซื้อพันธุ์ข้าวโพด ฯลฯ
เอ๊ะ..ไอ้ที่ผมบ่นมาเนี่ย มันเกี่ยวกับ GMOs ด้วยหรือเปล่าเนี่ย ?
บล็อคสวยจัง เดี๋ยวจะมาอ่านอย่างละเอียดนะ
ReplyDelete