1.5.09

Supermarket Tour(2) : เตือนสติก่อนซื้อ – อาหารปนเปื้อนสารเคมี

GMOs copy

ลองใช้เวลาหยุดคิดกันอีกสักยก ผักผลไม้ที่คุณกำลังจะซื้อ สดจริงหรือไม่? แล้วเป็นพืชผักตามฤดูกาลหรือเปล่า? แล้วที่สำคัญสิ่งที่คุณกำลังกินเข้าไป เป็นพืชผักปลอดสารเคมีหรือไม่? คุณรู้จักเกษตรอินทรีย์ หรือ พืช Organic อ่ะเปล่า?

เพราะในปัจจุบันแม้ว่าชาวแคนาดาจะซื้ออาหารกินกันอยู่ตลอดเวลา แต่ก็มีน้อยคนนักที่รู้ว่าแหล่งผลิตอาหารที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใด และหนึ่งคำที่คุณกำลังหม่ำอยู่ กำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลก เพราะสุขภาพของแรงงานในภาคเกษตรกำลังย่ำแย่เนื่องมาจากการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกอย่างเข้มข้น และกำลังทำลายสภาพสิ่งแวดล้อมในประเทศกำลังพัฒนาให้เสื่อมโทรมลง อย่างน่าใจหาย

ทั้งนี้คนได้รับสารเคมีทั้งทางตรง และทางอ้อม จากพืชผักผลไม้ที่เราเลือกกิน และจากเนื้อสัตว์ที่อาหารเลี้ยงสัตว์ (พืช) มีสารเคมีปนเปื้อนอยู่ สารเคมีดังกล่าวคือยาปราบศัตรูพืชนานาชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ขึ้น แม้ว่าการตรวจสอบของรัฐบาลจะไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไรที่ว่า หากร่างกายมนุษย์ได้รับสารเคมีเพียงเล็กน้อยนั้น จะไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงอะไรเลย ต้องขอบอกได้ว่าไม่จริง...

หากร่างกายสะสมสารเคมีไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ย่อมจะแสดงผลออกมา ทั้งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง เกิดข้อบกพร่องในการตั้งครรภ์ กระทบกระเทือนระบบสืบพันธุ์-การทำงานของฮอร์โมน ทั้งยังทำลายระบบประสาทและสมอง และมีส่วนทำลายระบบภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายด้วย

ถ้าคุณฝากความหวังไว้กับการค้นคว้าวิจัยของรัฐแล้วล่ะก็ มันอาจไม่ปลอดภัย 100% เนื่องด้วยในจำนวนสารเคมีกว่า 100,000 ชนิดที่ใช้กันอยู่รอบโลกนี้ และสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด เพิ่มไปอีกกว่า 1,000 ชนิดใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้มากขึ้นเกือบทุกปี แน่นอนว่าระยะเวลาของการทดลองผลกระทบจากสารเคมีแต่ละชนิดย่อมไม่รอบด้าน และครบถ้วนเพียงพอ ด้วยระยะเวลาอันสั้น และการทดลองแยกชนิดจึงไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่สารเคมีถูกใช้อย่างแพร่หลาย เป็นเวลานาน แถมยังใช้ปนกันด้วย

การสะสมของสารเคมีในระยะเวลานานวัน กอปรกับการใช้สารเคมีผสมกันหลายชนิด ยังไม่มีรายงานผลกระทบที่ชัดเจนจากรัฐบาลเลย อีกทั้งไม่มีการวิจัยอย่างจริงจัง ในขณะที่เด็กกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงมากที่สุด เพราะตามธรรมชาติเด็กกินอาหารเยอะกว่า ดื่มน้ำเยอะกว่า และสูดอากาศเยอะกว่าผู้ใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบตามอัตราส่วนปริมาณน้ำหนักของร่างกาย

ยาปราบศัตรูพืชเหล่านั้นจึงส่งผลเสียต่อเนื้อเยื่อสมองและการเจริญเติบโตของร่างกายของเด็ก ที่ยังไม่หยุดนิ่ง ทั้งยังมีอัตราการทำงานของกระบวนการเมทตาบอลิซึมสูงกว่าวัยผู้ใหญ่อีกด้วย ฉะนั้นเราคงต้องจริงจัง และตระหนักเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ลูกหลานในอนาคตของเราจะสามารถดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไรกัน...

ย้อนกลับไปดูสารดีดีที และเมททิล โบร์ไมด์ ที่เพิ่งกำลังมาค้นพบเมื่อไม่นานมานี้เองว่าเป็นสารเคมีที่เป็นพิษร้ายแรง ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา แคนาดา ห้ามใช้สารเคมีนี้แล้ว แต่กระนั้นเราก็ยังพบการใช้สารตัวนี้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และด้อยพัฒนาอยู่นั่นเอง (การเลือกปฏิบัติ)

ส่วนคำขวัญที่ว่า “กินแอปเปิ้ลวันละลูก ช่วยให้คุณห่างไกลหมอ” นั่นก็ไม่จริงอีกต่อไปแล้ว ข้อมูลในสหรัฐอเมริการายงานว่า เด็กอายุราว 5 ปีและต่ำกว่าประมาณ 20 ล้านคน เด็กได้รับสารเคมีเฉลี่ย 8 ชนิดต่อวัน และราว 2,900 ชนิดต่อปี จากการกินอาหารล้วนๆ โดยเฉพาะจากผลแอปเปิ้ลและลูกพีช (ผลไม้ชนิดหนึ่งคล้ายลูกท้อ) อีกทั้งสถิติการใช้สารเคมีในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่า 8% (หรือราว 27 ล้านกิโลกรัม) นับจากปี 2532

เรื่องกล้วยๆ ที่ไม่ง่าย และไม่อร่อยเลย
ขอยกตัวอย่างเรื่อง “กล้วย กล้วย” ในแคนาดาสักหน่อย กล้วยสีเหลืองอร่ามน่ากิน ที่มีราคาถูกแต่คุณค่าทางอาหารเยี่ยมนี้ ทำให้คนแคนาดากินกล้วยเฉลี่ย 13 กก.ต่อปี แต่เสียเงินซื้อเพียงน้อยนิดเท่านั้น แต่คนแคนาดาคงตกใจเมื่อทราบว่า กล้วยที่นำเข้ามาจากประเทศคอสตาริกานี้ อุตสาหกรรมปลูกกล้วยกำลังขยายพื้นที่เพาะปลูกจนคุกคามพื้นที่ป่าฝนที่อุดมสมบูรณ์ไปเป็นจำนวนมาก และกำลังทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืชและสัตว์ไปอย่างรุนแรง (ไม่ต่างไปจากประเด็นเรื่องสวนส้มสายน้ำผึ้งที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่เลย) พื้นที่หนึ่งของโลกกำลังเสียสมดุลทางธรรมชาติจากการส่งออก และนำเข้ากล้วย

แม้ว่าการใช้สารเคมีเพื่อให้กล้วยออกมาสีเหลืองน่าอร่อยแล้ว มันกำลังส่งผลให้สภาพดินเสื่อมโทรมลง ศัตรูพืชเพิ่มขึ้น (เนื่องจากการดื้อยา และแมลงที่ควรจะกินพวกมันถูกฆ่าตัดตอนไปแล้ว) ทางเลือกเดียวของบริษัทกล้วยคือโหมใช้สารเคมีมากขึ้น ใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้นเท่านั้นเอง! “นกที่เคยบินไปมา ร้องขับขาน เสียงสัตว์ป่าที่เคยบรรเลงเพลงธรรมชาติ” สิ่งเหล่านี้กำลังเลือนหายไป...

การปนเปื้อนของสารเคมีไม่ได้ตกอยู่ที่เราในฐานะผู้บริโภคโดยตรงเท่านั้น แต่สิ่งแวดล้อมทั้งดิน น้ำ อากาศก็ตกเป็นเหยื่อไม่ต่างไปจากมนุษย์ แต่สุดท้ายแล้วมนุษย์ก็คงมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ หากธรรมชาติเป็นพิษสำหรับเรา ขยะและกากจากสารเคมีเกิดขึ้นทุกครั้งหลังใช้ ถุงพลาสติกจำนวนมากถูกเททิ้งลงแม่น้ำและลำธาร สารพิษกระจายสู่ดินและน้ำ ปนเปื้อนไปทุกหนทุกแห่ง สารตกค้างจากสารเคมีเพียง 0.1% เท่านั้นจะสะสมอยู่ที่แหล่งที่ใช้ แต่อีก 99.9% จะปนเปื้อนไปกับสิ่งแวดล้อม และด้วยเหตุนี้จึงมีข่าวเกิดขึ้น เมื่อสารพิษจากสวนกล้วยเป็นเหตุทำลายแนวปะการังชายฝั่งคอสตาริกาในทะเลแคริบเบียนไปแล้ว 90%

คนงานที่ใช้แรงงานเพื่อการปลูกและเก็บเกี่ยวต้องเผชิญกับค่าแรงต่ำกว่ามาตรฐาน และต้องเผชิญกับสภาวะการทำงานที่เป็นพิษ พวกเขาไม่มีทางเลือกในการทำงานมากนัก (เนื่องจากขาดการศึกษาเพราะเข้าไม่ถึง เป็นแรงงานผิดกฎหมาย แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น) จึงมีเพียง 2 ตัวเลือกให้เลือกเท่านั้น คือ ไม่ต้องทำ ไม่ได้เงิน หรือทำได้เงินจริง แต่ก็เป็นค่าแรงแสนต่ำและยังถูกกดขี่

ไม่เพียงแค่นั้น ด้วยค่าแรงสุดโหด จึงผลักให้แรงงานเหล่านี้ประสบกับภาวะยากจน ติดเหล้า ติดยาเสพติด การใช้ความรุนแรง ปัญหาอาชญากรรม และการขายบริการทางเพศ... องค์กรอนามัยโลกเคยประมาณการณ์ว่ามีแรงงานจากภาคเกษตรซึ่งมีฐานะยากจนกว่าภาคส่วนการผลิตอื่นๆ ต้องสังเวยชีวิตไปถึง 200,000 คนในจำนวน 3 ล้านคนต่อปี เนื่องจากสารพิษที่ใช้ในการเกษตรกรรมอีกด้วย

อย่ายอมแพ้ – คุณช่วยได้!
วิธีการช่วยเหลือตนเอง และผู้อื่น คุณสามารถทำได้ (จงอย่ายอมแพ้กับปัญหา) ดังนี้คือ 1.หันมาบริโภคผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ และแม้ว่าคุณต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีกสักนิดหน่อยก็ตาม เนื่องจากเกษตรอินทรีย์นั้นจ่ายค่าแรงงานอย่างเป็นธรรม ปลอดสารพิษ แต่คนไม่นิยมเท่าไร และรัฐบาลก็ไม่ค่อยสนับสนุน 2. บอกผู้จัดการร้านค้าข้างบ้านว่าคุณต้องการซื้อสินค้าปลอดสารพิษ ขอให้เขาหามาเพิ่มและขายให้เรา 3. หากคุณมีที่ดินอยู่หลังบ้าน หรือที่ดินสาธารณะ ลองปลูกพืชกินเอง แต่อย่าลืมทดสอบดินก่อนปลูกด้วยว่า มีสารพิษเจือปนอยู่หรือไม่ 4. ซื้อผักผลไม้ที่ปลูกในท้องถิ่น และกินพืชผักตามฤดูกาล 5. หากคุณไม่สามารถซื้อหาพืชปลอดสารได้ ก็จงปลอกเปลือกผักผลไม้ที่คุณกิน โดยเฉพาะหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ก็ขอให้ลด หรือเลิกกินไปเลย

6. อย่าใช้สารเคมีในละแวกบ้านของคุณ เพราะเด็กๆ จะได้รับผลกระทบอย่างมาก 7. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้หรือตั้งบ้านใกล้สนามกอล์ฟ เนื่องจากเขาใช้สารเคมีมากกว่าที่ใช้ในการเกษตรเสียอีก พร้อมทั้งร้องเรียนไปยังรัฐบาลของคุณด้วยว่า ให้หยุดใช้สารเคมีในพื้นที่สาธารณะเช่น สวนสาธารณะ และโรงเรียน และ 8. หันมาซื้อสินค้าที่ระบุว่าเป็น “Fair Trade” หรือการค้าที่เป็นธรรม เพราะแม้ว่าคุณจะจ่ายเงินแพงขึ้น แต่คุณก็รู้ว่าคุณจ่ายไปเพื่ออะไร เพื่อค่าแรงที่เป็นธรรม การเพาะปลูกที่ปลอดสารเคมี การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ทำลายป่า ดิน น้ำ อากาศ และมีกระบวนการกำจัดขยะที่ดี ข้อสำคัญกรุณาช่วยบอกต่อสิ่งเหล่านี้ให้คนรอบข้างของคุณด้วย

...ติดตามอ่านต่อได้ เพื่อรู้ลึกรู้ทัน “ซุปเปอร์มาร็เก็ต” ให้มากขึ้น ในตอนต่อไป

1 comment:

  1. อื้อหือ...เปิดเข้ามาแล้วหน้าตาเปลี๊ยนไป๋
    สวยสะอาดขึ้นนะ ดูโปรมากขึ้น

    เมื่อปีกลายที่แล้ว พี่ยังขยันกินมังอยู่เลย และขยันกินผักปลอดสาร
    แต่ก็รู้ว่ามันแค่พักจากสารเคมีก่อนเก็บเกี่ยว ไม่ได้ปลอดสาร 100% หรอก
    แต่มาปีนี้กลับไม่กระตืออีกแล้ว
    พี่ว่าหนูเขียนได้ชัดเจนดี ทำให้จำสิ่งที่เคยคิดไว้
    ทำให้พี่ฮึดอยากกินผักปลอดสารมากขึ้น
    อย่างที่เขาว่า การกระทำเสียงดังกว่าคำพูด
    พี่จะกลับมาปลูกผัก ซื้อผักปลอดสารและอยู่แบนั้นดังๆเลย

    ReplyDelete