7.5.09

Supermarket Tour(5) จีเอ็มโอ ต่อชีวิตหรือปลิดชีวิต


ภาพจาก http://i.treehugger.com/files/gmo-patent-pending-01.jpg

เทคโนโลยีทางชีวภาพ แบบหนึ่งที่เรารู้จักกันดี คือ การตัดต่อพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ (Genetically Modified Organisms or GMOs) ซึ่งก็เป็นหัวข้อที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงการทางวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง ว่าแท้จริงแล้วข้อดีข้อเสียของจีเอ็มโอคืออะไรกันแน่ แต่แม้ไม่มีเทคโนโลยีตัวที่ว่านี้ เกษตรกรก็มีวิธีการคัดเลือกเมล็ด และพัฒนาสายพันธุ์พืชที่มีมานานแล้ว ทั้งยังเป็นกระบวนการที่ปล่อยให้เป็นไปตามวิถีของธรรมชาติ และมักจะเป็นการผสมในสายพันธุ์เดียวกัน

ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้า และทั้งก้าวกระโดดอย่างมากของจีเอ็มโอนี่เอง ทำให้มีการผสมข้ามสายพันธุ์ ข้ามประเภท ไม่ว่าจะเป็นการใส่ยีน (หน่วยพันธุกรรม) แบคทีเรียลงไปในข้าวโพด ใส่ยีนต้านการเยือกแข็งของปลาลงในมันฝรั่งฯลฯ มีข้ออ้างต่างๆ นานาในการเดินหน้าทดลองและนำใช้พืชจีเอ็มโอของบรรษัทยักษ์ใหญ่อย่างมอนซานโตนั้น เราลองมาดูซิว่าเขามีเหตุผลอะไรกันบ้าง

ข้ออ้างข้อแรก ของทางฝั่งมอนซานโต นั่นก็คือ เทคโนโลยีทางชีวภาพนี้จะช่วยให้เราสามารถขยายสายพันธุ์พืชให้ดีกว่ายิ่งขึ้นได้ เพิ่มปริมาณผลผลิต ทั้งนี้ก็เพื่อการช่วยลดบรรเทาความอดยากหิวโหยของจำนวนประชากรโลกที่นับวันก็มีแต่จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จากข้อมูลงายวิจัยล่าสุด การตัดต่อพันธุกรรมพืช หรือการพัฒนาสายพันธุ์กว่า 80% เป็นไปเพื่อให้พืชมีภูมิต้านทานโรคและแมลงให้ดีขึ้น ส่วนที่เหลือเป็นการยืดอายุให้พืชผัก ผลไม้สุกช้ากว่าปกติเพื่อให้การขนส่งสินค้าได้นานขึ้น หรือพยายามให้มีปริมาณน้ำมันในเนื้อมันฝรั่งลดน้อยลง ไม่มีการการดัดแปลงเพื่อการผลิตอาหารที่พัฒนาเพื่อคุณภาพอาหารอย่างแท้จริง เพื่อความหิวโหยเลย

ยกตัวอย่าง การพัฒนาพันธุ์ข้าวสีทอง กล่าวคือ เป็นการเพิ่มสารเบต้า แครอทีน (ช่วยสร้างแหล่งกักเก็บวิตามินเอให้ร่างกาย) ซึ่งเป็นการพัฒนาอาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าหรือสารอาหารบางอย่างให้พืช แต่ไม่ได้เป็นความพยายามจะตอบปัญหาที่จะลดปัญหาประชากรโลกที่กำลังประสบภาวะขาดสารอาหาร หรือมีอาหารไม่เพียงพอแต่อย่างไร

ภาวะขาดแคลนอาหาร หรือความอดยาก มีสาเหตุจากความยากจน พืชจีเอ็มโอไม่ได้เปลี่ยนแปลงความเป็นจริงตรงนี้ได้เลย (มีแต่สร้างความร่ำรวยให้กับบรรษัทนายทุน) ตอนนี้เรามีอาหารมากเพียงพอที่จะให้กับมนุษย์ทุกๆ คนบนโลกอย่างน้อยที่สุด คนละ 3,500 แคลอรี่ต่อวัน สูงกว่ามาตรฐานความความต้องการอาหารในแต่ละวันด้วยซ้ำ (แต่เนื่องด้วยปัญหาการกระจายทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม และเท่าเทียม นโยบายทางการเมือง และนโยบายทางเศรษฐกิจของโลกยุคโลกาภิวัตน์ต่างหากที่เป็นสาเหตุสำคัญ) ปัญหาที่เป็นอยู่จึงไม่ใช่ความอดยากที่ผลผลิตไม่มากพอ

แต่ตอนนี้ กลับมีเด็กจำนวนมากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และกินอาหารเกินความจำเป็น (เช่น โรคอ้วนของเด็ก และผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ จากการกินอาหารฟาสฟู้ดมากจนเกินไป) ฉะนั้นโลกจึงต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ที่จะกระจายอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ไปสู่ประเทศต่างๆ ในโลกจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่การหันมาสู่พืชจีเอ็มโอ (อีกทั้งผลผลิตจากการทำเกษตรกรรมตามธรรมชาติให้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ และมีความยั่งยืนมากกว่าเกษตรเข้มข้น หรือการตัดตอนการเติบโตทางธรรมชาติด้วยจีเอ็มโอ)

Supermarket Tour(4) เกษตรเชิงเดี่ยว ฆ่าตัดตอนพันธุ์พืช


















ความหลากหลายของพันธุ์พืชทางการเกษตรถือเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างมาก เพื่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์โลก หากปราศจากสิ่งนี้เชื่อแน่ว่า คงไม่ใช่แค่รสชาติบางอย่างจะสูญหายไป แต่คุณลักษณะ คุณสมบัติที่สำคัญบางอย่างของพืชนานาชนิดนี้ก็คงจะสูญสลายไปด้วย ในฟิลิปปินส์ ประเทศซึ่งเคยมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองหลายพันชนิด แต่ภายหลังการปฏิวัติเขียวในช่วงกลางศตวรรษ 1980 (พ.ศ.2523) ทำให้เหลือพันธุ์ข้าวเพียง 2 ชนิดที่ปลูกในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศมากถึง 98%

ชะตากรรมของพืชพันธุ์ไม่ได้หยุดยั้งแค่นี้ เพราะการทำเกษตรแบบเข้มข้น-เกษตรเชิงเดี่ยวเพิ่มขึ้น ทำให้อำนาจในการพัฒนาสายพันธุ์พืชตกไปอยู่ในมือของบริษัทใหญ่ๆ ต่างๆ ที่มีอำนาจล้นพ้นในการเกษตรแบบใหม่ ที่จะเป็นทั้งผู้ให้เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย (ยาปราบศัตรูพืช) แก่เกษตรกร และบริษัทเหล่านี้ยังเป็นผู้กำหนดชะตาอุตสาหกรรมการเกษตรอีกด้วย

การเปลี่ยนมือครั้งสำคัญนี้เอง ทำให้การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ซึ่งเคยเป็นหน้าที่ของเกษตรรายย่อยจำนวนนับล้าน ตกไปอยู่ในกำมือของบรรษัทขนาดใหญ่ที่คอยควบคุม ผลิตและขายเมล็ดพันธุ์พืชเพียงไม่กี่แห่ง แค่ในสหรัฐฯ และแคนาดา แม้บริษัทค้าเมล็ดพันธุ์ขนาดเล็ก จำนวนกว่า 125 บริษัทกลับต้องถูกเขี่ยออกจากธุรกิจนี้ไป หรือไม่ก็ถูกบริษัทด้านเภสัชกรรม และยาเคมีซื้อต่อ เพื่อฮวบรวมกิจการด้านการเกษตรเข้าไว้ด้วยกัน แล้วเกษตรกรรายย่อยจะเหลือไหมเนี่ย

ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่พันธุ์พืชต่างๆ ที่เกษตรกรได้พัฒนาสายพันธุ์ (ทนทานต่อฟ้าฝน ความแห้งแล้ง แมลงศัตรูพืช) หรือวิธีคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ไว้กำลังสูญหายไป พร้อมกันกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และกลวิธีอันชาญฉลาดด้านการเพาะปลูก

คุณผู้อ่านค่ะ “ความหวังยังคงมีอยู่” ปัจจุบันมีธนาคารเมล็ดพันธุ์จำนวนหนึ่ง ที่นักวิทยาศาสตร์นักวิจัยกำลังช่วยเก็บรักษาพันธุ์พืชที่ตกอยู่ในอันตรายแล้ว ไม่เพียงเท่านั้นยังมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ ที่คอยช่วยด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ในการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ และช่วยส่งเสริมความหลากหลายทางเมล็ดพันธุ์กันอย่างแข็งขัน เราทุกคนก็จำเป็นต้องช่วยกันส่งเสริม สนับสนุนเกษตรแบบยั่งยืน หรือเกษตรทางเลือกด้วย เพื่อจะสามารถเสริมพลังอำนาจให้เกษตรกรรายย่อย และเพื่อรักษาสายพันธุ์พืชดั้งเดิมต่างๆ ไว้ได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นคือ มรดกทางธรรมชาติ และความหลากหลายทางด้านเกษตรกรรมอย่างแท้จริง

Supermarket Tour(3) เท่าที่เห็น คือ เท่าที่มีอยู่จริงหรือ?

DSC01232

คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมร้านค้าซุปเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลาย ถึงมีสินค้าวางขายเพียงไม่กี่ชนิด และเราก็จะเห็นอยู่ซ้ำๆ แบบเดิมๆ เห็นได้ว่ามีข้าวเพียงไม่กี่ชนิด มีแอปเปิ้ล มีกล้วยวางขายอยู่ไม่กี่ชนิด เอ...หรือว่ามันมีอยู่แค่นั้นจริงๆ แต่คุณคงต้องประหลาดใจว่าพืชผัก ผลไม้เหล่านี้มีอยู่หลายพันชนิด และอีกหลายร้อยสายพันธุ์ ว่าแต่ว่าทำไมเราไม่เคยเห็น ไม่มีเอามาวางขาย แล้วมันหายไปไหนหมดเนี่ย...

ในอดีตกาลสามารถกล่าวได้ว่า พืชพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ ทั่วโลกถูกสร้างสรรค์ขึ้นมากมาย และด้วยการสะสมประสบการณ์จากผู้เพาะปลูกและธรรมชาติ ทำให้พืชพันธุ์ที่ปลูกมีความต้านทานโรค/แมลงได้ดี ทดต่อสภาพแห้งแล้ง แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป หลังจากการปฏิวัติเขียว และการผสมข้ามสายพันธุ์ต่างๆ ทำให้สายพันธุ์มีจำนวนลดน้อยลง เป็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นไปทั่วโลก

เกษตรกรในอินเดียสามารถพัฒนาสายพันธุ์ข้าวต่างๆ ได้มากถึง 200,000 ชนิด อย่างไรก็ตามเวลาผ่านไปนานกว่า 20 ปี พันธุ์ข้าวหลายพันชนิดก็ได้สูญหายไปแล้ว ในขณะนี้มีข้าวเพียง 12 ชนิดเท่านั้นที่ครอบครองตลาดผู้บริโภคอยู่ นอกจากนี้ด้านการค้าพันธุ์ปศุสัตว์ ทั่วโลกที่มีพันธุ์สัตว์กว่า 4,000 ชนิด ในจำนวนนี้ ประมาณ 27% ของทั้งหมดกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ และกำลังสูญพันธุ์ไปอย่างน้อย 5% ในทุกปี, 1 สายพันธุ์ของวัวที่เสียไปทุกปี และสำหรับพันธุ์ม้าและหมู เรากำลังเสียพันธุ์สัตว์เหล่านี้ไปทุกสัปดาห์ สัตว์น้ำทะเล และน้ำจืดก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน จากการจับปลาที่มากเกินไป (ธรรมชาติไม่สามารถฟื้นฟูได้ทัน)

ช่วงปี 2443 มีแอปเปิ้ลกว่า 7,500 ชนิดที่ปลูกในแถบอเมริกาเหนือ ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ร้อยชนิดเท่านั้นที่ยังหลงเหลืออยู่ และมีแอปเปิ้ลเพียงแค่ 12 ชนิดเท่านั้นที่ปลูกเพื่อการค้า อีกทั้งแม้ว่าจะมีมันฝรั่งมากถึง 2,000 สายพันธุ์/ตระกูล แต่ในเชิงพาณิชย์ทำให้มันฝรั่งเหลือเพียง 12 ชนิดใน 1 สายพันธุ์เท่านั้นที่ครอบครองพื้นที่ในการเพาะปลูกของสหรัฐมากถึง 85%

แปลและตัดต่อ/เรียบเรียงจาก The Supermarket Tour (2002). Research and writing by Stella Lee, Caroline Liffman, and Cidy McCulligh. OPIRG Publication, McMaster University – Hamilton Ontario Canada.

1.5.09

Supermarket Tour(2) : เตือนสติก่อนซื้อ – อาหารปนเปื้อนสารเคมี

GMOs copy

ลองใช้เวลาหยุดคิดกันอีกสักยก ผักผลไม้ที่คุณกำลังจะซื้อ สดจริงหรือไม่? แล้วเป็นพืชผักตามฤดูกาลหรือเปล่า? แล้วที่สำคัญสิ่งที่คุณกำลังกินเข้าไป เป็นพืชผักปลอดสารเคมีหรือไม่? คุณรู้จักเกษตรอินทรีย์ หรือ พืช Organic อ่ะเปล่า?

เพราะในปัจจุบันแม้ว่าชาวแคนาดาจะซื้ออาหารกินกันอยู่ตลอดเวลา แต่ก็มีน้อยคนนักที่รู้ว่าแหล่งผลิตอาหารที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใด และหนึ่งคำที่คุณกำลังหม่ำอยู่ กำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลก เพราะสุขภาพของแรงงานในภาคเกษตรกำลังย่ำแย่เนื่องมาจากการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกอย่างเข้มข้น และกำลังทำลายสภาพสิ่งแวดล้อมในประเทศกำลังพัฒนาให้เสื่อมโทรมลง อย่างน่าใจหาย

ทั้งนี้คนได้รับสารเคมีทั้งทางตรง และทางอ้อม จากพืชผักผลไม้ที่เราเลือกกิน และจากเนื้อสัตว์ที่อาหารเลี้ยงสัตว์ (พืช) มีสารเคมีปนเปื้อนอยู่ สารเคมีดังกล่าวคือยาปราบศัตรูพืชนานาชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ขึ้น แม้ว่าการตรวจสอบของรัฐบาลจะไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไรที่ว่า หากร่างกายมนุษย์ได้รับสารเคมีเพียงเล็กน้อยนั้น จะไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงอะไรเลย ต้องขอบอกได้ว่าไม่จริง...

หากร่างกายสะสมสารเคมีไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ย่อมจะแสดงผลออกมา ทั้งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง เกิดข้อบกพร่องในการตั้งครรภ์ กระทบกระเทือนระบบสืบพันธุ์-การทำงานของฮอร์โมน ทั้งยังทำลายระบบประสาทและสมอง และมีส่วนทำลายระบบภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายด้วย

ถ้าคุณฝากความหวังไว้กับการค้นคว้าวิจัยของรัฐแล้วล่ะก็ มันอาจไม่ปลอดภัย 100% เนื่องด้วยในจำนวนสารเคมีกว่า 100,000 ชนิดที่ใช้กันอยู่รอบโลกนี้ และสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด เพิ่มไปอีกกว่า 1,000 ชนิดใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้มากขึ้นเกือบทุกปี แน่นอนว่าระยะเวลาของการทดลองผลกระทบจากสารเคมีแต่ละชนิดย่อมไม่รอบด้าน และครบถ้วนเพียงพอ ด้วยระยะเวลาอันสั้น และการทดลองแยกชนิดจึงไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่สารเคมีถูกใช้อย่างแพร่หลาย เป็นเวลานาน แถมยังใช้ปนกันด้วย

การสะสมของสารเคมีในระยะเวลานานวัน กอปรกับการใช้สารเคมีผสมกันหลายชนิด ยังไม่มีรายงานผลกระทบที่ชัดเจนจากรัฐบาลเลย อีกทั้งไม่มีการวิจัยอย่างจริงจัง ในขณะที่เด็กกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงมากที่สุด เพราะตามธรรมชาติเด็กกินอาหารเยอะกว่า ดื่มน้ำเยอะกว่า และสูดอากาศเยอะกว่าผู้ใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบตามอัตราส่วนปริมาณน้ำหนักของร่างกาย

ยาปราบศัตรูพืชเหล่านั้นจึงส่งผลเสียต่อเนื้อเยื่อสมองและการเจริญเติบโตของร่างกายของเด็ก ที่ยังไม่หยุดนิ่ง ทั้งยังมีอัตราการทำงานของกระบวนการเมทตาบอลิซึมสูงกว่าวัยผู้ใหญ่อีกด้วย ฉะนั้นเราคงต้องจริงจัง และตระหนักเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ลูกหลานในอนาคตของเราจะสามารถดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไรกัน...

ย้อนกลับไปดูสารดีดีที และเมททิล โบร์ไมด์ ที่เพิ่งกำลังมาค้นพบเมื่อไม่นานมานี้เองว่าเป็นสารเคมีที่เป็นพิษร้ายแรง ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา แคนาดา ห้ามใช้สารเคมีนี้แล้ว แต่กระนั้นเราก็ยังพบการใช้สารตัวนี้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และด้อยพัฒนาอยู่นั่นเอง (การเลือกปฏิบัติ)

ส่วนคำขวัญที่ว่า “กินแอปเปิ้ลวันละลูก ช่วยให้คุณห่างไกลหมอ” นั่นก็ไม่จริงอีกต่อไปแล้ว ข้อมูลในสหรัฐอเมริการายงานว่า เด็กอายุราว 5 ปีและต่ำกว่าประมาณ 20 ล้านคน เด็กได้รับสารเคมีเฉลี่ย 8 ชนิดต่อวัน และราว 2,900 ชนิดต่อปี จากการกินอาหารล้วนๆ โดยเฉพาะจากผลแอปเปิ้ลและลูกพีช (ผลไม้ชนิดหนึ่งคล้ายลูกท้อ) อีกทั้งสถิติการใช้สารเคมีในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่า 8% (หรือราว 27 ล้านกิโลกรัม) นับจากปี 2532

เรื่องกล้วยๆ ที่ไม่ง่าย และไม่อร่อยเลย
ขอยกตัวอย่างเรื่อง “กล้วย กล้วย” ในแคนาดาสักหน่อย กล้วยสีเหลืองอร่ามน่ากิน ที่มีราคาถูกแต่คุณค่าทางอาหารเยี่ยมนี้ ทำให้คนแคนาดากินกล้วยเฉลี่ย 13 กก.ต่อปี แต่เสียเงินซื้อเพียงน้อยนิดเท่านั้น แต่คนแคนาดาคงตกใจเมื่อทราบว่า กล้วยที่นำเข้ามาจากประเทศคอสตาริกานี้ อุตสาหกรรมปลูกกล้วยกำลังขยายพื้นที่เพาะปลูกจนคุกคามพื้นที่ป่าฝนที่อุดมสมบูรณ์ไปเป็นจำนวนมาก และกำลังทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืชและสัตว์ไปอย่างรุนแรง (ไม่ต่างไปจากประเด็นเรื่องสวนส้มสายน้ำผึ้งที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่เลย) พื้นที่หนึ่งของโลกกำลังเสียสมดุลทางธรรมชาติจากการส่งออก และนำเข้ากล้วย

แม้ว่าการใช้สารเคมีเพื่อให้กล้วยออกมาสีเหลืองน่าอร่อยแล้ว มันกำลังส่งผลให้สภาพดินเสื่อมโทรมลง ศัตรูพืชเพิ่มขึ้น (เนื่องจากการดื้อยา และแมลงที่ควรจะกินพวกมันถูกฆ่าตัดตอนไปแล้ว) ทางเลือกเดียวของบริษัทกล้วยคือโหมใช้สารเคมีมากขึ้น ใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้นเท่านั้นเอง! “นกที่เคยบินไปมา ร้องขับขาน เสียงสัตว์ป่าที่เคยบรรเลงเพลงธรรมชาติ” สิ่งเหล่านี้กำลังเลือนหายไป...

การปนเปื้อนของสารเคมีไม่ได้ตกอยู่ที่เราในฐานะผู้บริโภคโดยตรงเท่านั้น แต่สิ่งแวดล้อมทั้งดิน น้ำ อากาศก็ตกเป็นเหยื่อไม่ต่างไปจากมนุษย์ แต่สุดท้ายแล้วมนุษย์ก็คงมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ หากธรรมชาติเป็นพิษสำหรับเรา ขยะและกากจากสารเคมีเกิดขึ้นทุกครั้งหลังใช้ ถุงพลาสติกจำนวนมากถูกเททิ้งลงแม่น้ำและลำธาร สารพิษกระจายสู่ดินและน้ำ ปนเปื้อนไปทุกหนทุกแห่ง สารตกค้างจากสารเคมีเพียง 0.1% เท่านั้นจะสะสมอยู่ที่แหล่งที่ใช้ แต่อีก 99.9% จะปนเปื้อนไปกับสิ่งแวดล้อม และด้วยเหตุนี้จึงมีข่าวเกิดขึ้น เมื่อสารพิษจากสวนกล้วยเป็นเหตุทำลายแนวปะการังชายฝั่งคอสตาริกาในทะเลแคริบเบียนไปแล้ว 90%

คนงานที่ใช้แรงงานเพื่อการปลูกและเก็บเกี่ยวต้องเผชิญกับค่าแรงต่ำกว่ามาตรฐาน และต้องเผชิญกับสภาวะการทำงานที่เป็นพิษ พวกเขาไม่มีทางเลือกในการทำงานมากนัก (เนื่องจากขาดการศึกษาเพราะเข้าไม่ถึง เป็นแรงงานผิดกฎหมาย แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น) จึงมีเพียง 2 ตัวเลือกให้เลือกเท่านั้น คือ ไม่ต้องทำ ไม่ได้เงิน หรือทำได้เงินจริง แต่ก็เป็นค่าแรงแสนต่ำและยังถูกกดขี่

ไม่เพียงแค่นั้น ด้วยค่าแรงสุดโหด จึงผลักให้แรงงานเหล่านี้ประสบกับภาวะยากจน ติดเหล้า ติดยาเสพติด การใช้ความรุนแรง ปัญหาอาชญากรรม และการขายบริการทางเพศ... องค์กรอนามัยโลกเคยประมาณการณ์ว่ามีแรงงานจากภาคเกษตรซึ่งมีฐานะยากจนกว่าภาคส่วนการผลิตอื่นๆ ต้องสังเวยชีวิตไปถึง 200,000 คนในจำนวน 3 ล้านคนต่อปี เนื่องจากสารพิษที่ใช้ในการเกษตรกรรมอีกด้วย

อย่ายอมแพ้ – คุณช่วยได้!
วิธีการช่วยเหลือตนเอง และผู้อื่น คุณสามารถทำได้ (จงอย่ายอมแพ้กับปัญหา) ดังนี้คือ 1.หันมาบริโภคผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ และแม้ว่าคุณต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีกสักนิดหน่อยก็ตาม เนื่องจากเกษตรอินทรีย์นั้นจ่ายค่าแรงงานอย่างเป็นธรรม ปลอดสารพิษ แต่คนไม่นิยมเท่าไร และรัฐบาลก็ไม่ค่อยสนับสนุน 2. บอกผู้จัดการร้านค้าข้างบ้านว่าคุณต้องการซื้อสินค้าปลอดสารพิษ ขอให้เขาหามาเพิ่มและขายให้เรา 3. หากคุณมีที่ดินอยู่หลังบ้าน หรือที่ดินสาธารณะ ลองปลูกพืชกินเอง แต่อย่าลืมทดสอบดินก่อนปลูกด้วยว่า มีสารพิษเจือปนอยู่หรือไม่ 4. ซื้อผักผลไม้ที่ปลูกในท้องถิ่น และกินพืชผักตามฤดูกาล 5. หากคุณไม่สามารถซื้อหาพืชปลอดสารได้ ก็จงปลอกเปลือกผักผลไม้ที่คุณกิน โดยเฉพาะหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ก็ขอให้ลด หรือเลิกกินไปเลย

6. อย่าใช้สารเคมีในละแวกบ้านของคุณ เพราะเด็กๆ จะได้รับผลกระทบอย่างมาก 7. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้หรือตั้งบ้านใกล้สนามกอล์ฟ เนื่องจากเขาใช้สารเคมีมากกว่าที่ใช้ในการเกษตรเสียอีก พร้อมทั้งร้องเรียนไปยังรัฐบาลของคุณด้วยว่า ให้หยุดใช้สารเคมีในพื้นที่สาธารณะเช่น สวนสาธารณะ และโรงเรียน และ 8. หันมาซื้อสินค้าที่ระบุว่าเป็น “Fair Trade” หรือการค้าที่เป็นธรรม เพราะแม้ว่าคุณจะจ่ายเงินแพงขึ้น แต่คุณก็รู้ว่าคุณจ่ายไปเพื่ออะไร เพื่อค่าแรงที่เป็นธรรม การเพาะปลูกที่ปลอดสารเคมี การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ทำลายป่า ดิน น้ำ อากาศ และมีกระบวนการกำจัดขยะที่ดี ข้อสำคัญกรุณาช่วยบอกต่อสิ่งเหล่านี้ให้คนรอบข้างของคุณด้วย

...ติดตามอ่านต่อได้ เพื่อรู้ลึกรู้ทัน “ซุปเปอร์มาร็เก็ต” ให้มากขึ้น ในตอนต่อไป

มาตาปารี เด็กชายจากดวงดาว





























จักรวาลก้าวไปข้างหน้าภายใต้ปริศนา
และคนเราน่ะก็เกิดมากิน เต้นรำ หลับนอนกัน
แล้วก็ใช้เวลาที่เหลือ...
พยายามล้วงความลับที่ซุกซ่อนภายใต้รูปลักษณ์ที่ตามองเห็น
เพราะเหตุนี้คนถึงเขียนหนังสือ
ส่วนคนที่เขียนหนังสือไม่เป็นก็เรียนรู้จากป่า
ฟังเสียงสัตว์ขุดดินหรือจ้องมองดวงดาว
จงหัดอ่านหนังสือไว้นะหลานเอ๊ย
จงหัดอ่านทั้งหนังสือที่มนุษย์และจักรวาลเขียนไว้
แล้วก็หมั่นเรียนรู้ จงเรียนรู้จากปราชญ์อยู่เสมอ...
(เทซโซ ดิอา มาเยลา ปู่ของมาตาปารี)

มาตาปารี เด็กชายจากดวงดาว/ เอ็มมานูเอล ดอนกาลา : เขียน; งามพรรณ เวชชาชีวะ : แปล จากภาษาฝรั่เศส เรื่อง Les petits garçons naissent aussi des étoiles.- กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, 2548.

เช้าวันหนึ่ง...
มีเด็กชายฝาแฝดสองคนถือกำเนิดขึ้น แต่หากรู้ไหมว่ามีเด็กชายที่เป็นแฝดคนที่สามอีกคนติดอยู่ในท้องแม่ เวลาผ่านไปถึงสองวัน ผู้เป็นแม่รู้สึกปวดท้องขึ้นมาอีกครั้ง สุดท้ายก็ได้คลอดเด็กน้อย น้องคนสุดท้อง (สุดท้องจริงๆ) ออกมา และให้ชื่อเด็กที่ถือกำเนิดอย่างพิสดารคนนี้ว่า “มาตาปารี”

มาตาปารี
เด็กน้อยที่เป็นตัวเล่าเรื่องหลักในนวนิยาย (อิงประวัติศาสตร์) เล่มนี้
เล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศของเขา ดินแดนแห่งหนึ่งในแถบทวีปแอฟริกา
เมื่อลัทธิล่าอาณานิคม-จักรวรรดินิยมใหม่ฝรั่งเศส เข้ามาครอบครองดินแดนของเขา
ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป คริสต์ศาสนาเข้ามามีบทบาทชะล้างความเชื่อดั้งเดิมของท้องถิ่น
บาทหลวงเข้ามา ทหารเข้ามา ระบบการเมืองการปกครองแบบใหม่ก็เข้ามาด้วย

ปู่ของมาตาปารี เป็นครูในโรงเรียนชนบทแต่กลับมีบทบาทสำคัญเรียกร้องให้รัฐหันกลับมาสนใจหลักสูตรท้องถิ่น ที่สอนให้เด็กเข้าใจวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม รู้จักป่า รู้จักพืชท้องถิ่น เรียนรู้จากต้นไม้ เรียนรู้จากปราชญ์ท้องถิ่น... ปู่ของเขายืนหยัดต่อสู้กับรัฐบาลอย่างจริงจัง สุดท้ายต้องตกเป็นเป้า
“ผู้ที่สั่นคลอนความมั่นคงของประเทศชาติ” อีกต่างหาก

ต่อมา เมื่อภายหลังการปลดแอกจากฝรั่งเศส ระบอบประชาธิปไตยเข้ามา แต่มันกลับไม่ยั่งยืน ด้วยระบอบของอำนาจนิยม และเผด็จการ ประชาธิปไตยในบ้านเกิดของมาตาปารีจึงเป็นอันต้องล้มลุกคลุกคลานเสมอ มาตาปารี เรียนรู้จากการได้ฟัง การได้เห็น และการสัมพันธ์ กระสุนปืนและคราบเลือดของผู้คน ที่พยายามจะต่อกรกับรัฐบาลเผด็จการยุคแล้วยุคเล่า

หนังสือเล่มนี้ แม้ชื่อเรื่องจะฟังดูแล้ว เหมือนกับนวนิยายเด็ก วรรณกรรมเยาวชน แต่ขอยืนยันว่า “เด็กอ่านได้ แต่ผู้ใหญ่อ่านดีกว่า” ความซับซ้อนของความคิดของผู้ใหญ่ ความฉ้อฉลคดโกง ความกระหายในศักดิ์และศรี หรืออำนาจของมนุษย์ ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านการบอกเล่าอย่างไม่ประสีประสาของมาตาปารี

แต่ใครจะรู้ว่า มาตาปารี เป็นตัวดำเนินเรื่องที่มาจากดวงดาวโดยแท้ เพราะเด็กน้อยคนนี้ได้บอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกมนุษย์ ไม่ใช่แค่ในอดีต แต่สามารถเห็นเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในปัจจุบัน และยังคงต่อเนื่องไปในอนาคตด้วย

“เมื่อมีการปฏิวัติ คนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาล้มล้างอำนาจของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ด้วยคำว่าประชาธิปไตย สุดท้ายก็ยึดติด หลงระเริงกับอำนาจ กลายมาเป็นเผด็จการอีกครั้ง แล้วก็จะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาล้มล้างระบอบนั้นอีกครั้ง เป็นวงจรอย่างนี้เรื่อยไป... ส่วนประชาชนตาดำๆ จำนวนมาก ที่ต้องการเพียงชีวิตที่สงบสุข อยู่กับป่า กับภูเขา และครอบครัวเท่านั้น แต่ต้องมาพัวพันอยู่กับผู้นำที่ไม่เคยดำรงซึ่งความเป็นธรรมได้อย่างถาวรเลย”

ว่าแต่... จะมีคนอีกสักเท่าไรที่ต้องสูญเสียญาติ พ่อแม่ พี่น้อง ไปกับการปฏิวัติครั้งแล้วครั้งเล่าเหล่านั้น
... ... ... ...